องค์การเภสัชกรรมจับมือกรมการแพทย์แผนไทย -มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างเครือข่าย วิจัยและพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยคุณภาพมาตรฐานเมดิคัลเกรด ด้านอธิบดีแพทย์แผนไทยฯ ตั้งเป้าใช้สายพันธุ์ไทยปรุง 16 ตำรับ
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะนำกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีโลหะหนัก ไม่มีพิษ ไม่มีสารอันตรายจากเชื้อรา ไม่มียาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา คุณภาพมาตรฐานเมดิคัลเกรด นำไปใช้ในตำรับยาแพทย์แผนไทยทั้ง 16 ตำรับ เพื่อใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยให้เหมาะสมกับโรคต่อไป รวมถึงจะเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อน ประสานงานให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องนำวัตถุดิบจากกระบวนการปลูก การแปรรูป การสกัด เพื่อนำไปใช้ในการวิจัย การรักษาพยาบาล การจัดเก็บข้อมูลการวิจัยและการรักษาพยาบาล รวมทั้งเพิ่มช่องทางการรักษาด้วยช่องอื่นด้วย
“เบื้องต้นเราผ่านตำรับยาไป 8 ตำรับ ยังเหลืออีกก็อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการ แต่ก็หวังจะใช้กัญชาสายพันธุ์ไทยที่ร่วมมือกันครั้งนี้มาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นสายพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ปลอดเชื้อโรค ปลอดโลหะหนัก เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้” นพ.มรุต กล่าว
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะร่วมกันพัฒนาวิธีกรปลูก และวิจัยพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทย เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพ มีปริมาณสารสำคัญที่มีสัดส่วนคงที่ สม่ำเสมอ ได้มาตรฐาน ไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ จากนั้นก็จะนำกัญชาที่ได้สายพันธุ์ร่วมกันส่งต่อไปต่อไปยังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำไปใช้ในตำรับแพทย์แผนไทยรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่เหมาะสมกับโรคนั้นๆ พร้อมทั้งวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรมให้ได้ผลิตภัณฑ์ใช้ในการวิจัยทางคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และสำหรับการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme (SAS) เป็นการรักษาผู้ป่วยควบคู่การเก็บข้อมูลการวิจัย รวมถึงการรักษาด้วยช่องทางอื่นด้วย
รศ.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะมีบทบาทในการพัฒนาวิธีการเพาะปลูกพันธุ์พืชกัญชาในประเทศไทย ให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยไม่มีสิ่งปนเปื้อน เพื่อนำไปใช้ในตำรับยาแผนไทย รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้ได้สายพันธุ์ที่ได้ปริมาณสารสำคัญที่คงที่ในการเพาะปลูก เพื่อนำไปผลิตยาและใช้ในการรักษาให้เหมาะสมกับโรคต่อไป โดยในเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ปลูกและวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
- 10 views