คณบดีทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ วิชาชีพทันตแพทย์ต้องทำงานกับชีวิตผู้ป่วย มีทักษะและเทคนิคเฉพาะจำนวนมากที่จะต้องประเมิน การทำให้มีมาตรฐานเป็นพื้นฐานของการรับผิดชอบต่อสังคม มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนควรผ่านมาตรฐานตั้งแต่ต้น เพราะการวัดผลเพื่อควบคุมคุณภาพในท้ายที่สุดเพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะในทางคลินิกจะทำได้ยากเมื่อมีการวัดผลนักเรียนจำนวนมากในครั้งเดียว แนะตีความ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ให้ชัดเจนก่อนและผลักดันให้มีการผ่านมาตรฐานวิชาชีพโดยมีคนกลางตรวจสอบตั้งแต่แรกเข้าจนเรียนจบ เพื่อให้ทันตแพทย์จบใหม่มีมาตรฐานที่ดีทั้งหมด ไม่ใช่เพียงจำนวนน้อยของชั้นเรียน
ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าบางมหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ โดยที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านการรับรองของทันตแพทยสภาและการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษา จากสำนักมาตรฐานและประเมินผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตนมองว่าสำหรับโรงเรียนทันตแพทย์แล้ว ในอดีตการที่มหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครนักศึกษาก่อนที่หลักสูตรจะผ่านการรับรอง ผู้บริหารทราบดีว่าไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ (พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562) ใช้ข้อความซึ่งยังตีความได้หลายแบบ เช่น “สภาวิชาชีพจะออกกฏเกณฑ์โดยเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายไม่ได้” ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการทำให้มีมาตรฐานเป็นพื้นฐานของการรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยที่มารับบริการ จึงตีความได้อีกอย่างว่าการผ่านมาตรฐานก่อนรับนักศึกษา ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายแต่อย่างใด หากแต่เป็นประโยชน์ของประชาชน ขณะที่มาตรฐานของทันตแพทยสภาก็ไม่ได้ยากขนาดที่ว่าทำไม่ได้เพราะมีมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดสามารถผ่านเกณฑ์ได้โดยไม่ยาก
ดังนั้น การดำเนินการในลักษณะนี้มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศ คือประเทศไทยจะสูญเสียความเป็น Medical hub ในส่วนของ Dental hub ที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกไปอย่างไม่สามารถดึงคืนได้ เพราะหากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนตั้งแต่ต้น การวัดผลเพื่อควบคุมคุณภาพในท้ายที่สุดเพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะในทางคลินิกจะทำได้ยากเมื่อมีการวัดผลนักเรียนจำนวนมากในครั้งเดียว
ผศ.ทพ.ดร.สุชิต กล่าวอีกว่า วิชาชีพทันตแพทย์ต้องทำงานกับชีวิตผู้ป่วย จึงมีทักษะและเทคนิคเฉพาะจำนวนมากที่จะต้องประเมิน ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาสภาวิชาชีพสร้างมาตรฐานให้โรงเรียนทันตแพทย์ผลิตทันตแพทย์คุณภาพ ส่งผลให้ทันตแพทย์ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและมีสมรรถนะอยู่เหนือประเทศต่างๆมากมายทั้งในภูมิภาคและในระดับโลก การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้น่าจะมีผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ไม่เห็นความสำคัญของมาตรฐาน ต้องยอมรับว่ามีมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ที่มีมาตรฐานมากมายสามารถผ่านข้อกำหนดของสภาวิชาชีพได้อยู่แล้ว จึงไม่เป็นประเด็นอะไรที่น่ากังวลที่จะไม่ผ่านมาตรฐาน นอกจากความล่าช้าของการทำงานของสภาวิชาชีพ ซึ่งถ้าหากมีก็ต้องไปแก้ปัญหาให้ตรงประเด็นมากกว่า
นอกจากนี้ ผลกระทบต่อคนกลุ่มน้อยก็คือหากมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ไม่คำนึงถึงมาตรฐาน จะมีนักศึกษาจำนวนมากที่ได้ปริญญา แต่ไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพดังในบางประเทศที่รับนักเรียนปีละพันคนแต่สอบผ่านใบประกอบวิชาชีพได้แค่จำนวนหยิบมือ ทำให้คนกลุ่มนี้เสียค่าใช้จ่ายไปมหาศาลแต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือในที่สุดแอบประกอบอาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตและส่งผลกระทบต่อประชาชนอีก
ผศ.ทพ.ดร.สุชิต กล่าวอีกว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเฉพาะประเด็นหลักที่อาจมีผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เห็นข้อเสียใดๆ ต่อประชาชนหากจะทำให้ผ่านมาตรฐานตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของทันตแพทยสภา เนื่องจากทันตแพทยสภาเพิ่งเปลี่ยนแปลงผู้บริหารจึงเห็นควรสอบถามนโยบายผู้บริหารสูงสุดคือนายกทันตแพทยสภา แต่ในฐานะหนึ่งเสียงในสภา เห็นว่าแนวทางแก้ไขคือตีความ พ.ร.บ.ให้ชัดเจนก่อนและผลักดันให้มีการผ่านมาตรฐานวิชาชีพโดยมีคนกลางตรวจสอบตั้งแต่แรกเข้าจนเรียนจบ เพื่อให้ทันตแพทย์จบใหม่ในอนาคตคงมีมาตรฐานที่ดีทั้งหมด ไม่ใช่เพียงจำนวนน้อยของชั้นเรียน
สำหรับในส่วนของเครือข่ายคณะทันตแพทย์ยังคงยืนยันหลักการเดิมคือต้องผ่านมาตรฐานสภาวิชาชีพตั้งแต่ต้นน้ำ และประเมินที่ปลายน้ำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน เพราะพวกเรายึดถือหลักการที่ว่าความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่งคือการทำให้ได้มาตรฐาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ห่วง 3 มหาลัยเปิดรับ นศ.ทันตะฯ ทั้งที่หลักสูตรยังไม่ผ่านการรับรอง หวั่นกระทบ นศ.-ผู้ปกครอง
คณบดีทันตแพทศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ยืนยัน จัดการศึกษาได้คุณภาพระดับนานาชาติ
ม.วลัยลักษณ์ยันรับ นศ.ตามข้อบังคับ มั่นใจผ่านประเมินหลักสูตร-น.ศ.สอบใบประกอบวิชาชีพได้หมด
ทันตแพทยสภาแถลงการณ์ คณะทันตะที่ยังไม่ได้รับรองหลักสูตร เป็นคณะเปิดใหม่ หากทำตามเกณฑ์จะได้รับรอง
- 180 views