แพทยสภาเปิดข้อมูลความรุนแรงที่เกิดกับบุคลากรสาธารณสุข พร้อมถอดบทเรียนการศึกษาจากต่างประเทศ ผู้ช่วยเลขาธิการจำแนกสาเหตุ-ปัจจัยกระตุ้น พร้อมยกตัวอย่างนานาชาติออกกฎหมายคุมเข้มการทำร้ายเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล โทษหนัก-ยอมความไม่ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลต่างประเทศ” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมเสวนาเรื่องปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหา ที่จัดขึ้นโดยแพทยสภา สภาการพยาบาล แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ตอนหนึ่งว่า รูปแบบความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลไม่ได้มีแค่การทำร้ายร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่สามารถแบ่งได้เป็น 1. ไม่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์ แต่สถานพยาบาลถูกใช้เป็นสถานที่ก่อเหตุ เช่น การตามมาตีกันในโรงพยาบาล การบุกเข้ามาทำร้ายคู่อริ 2. เกี่ยวข้องกับบุคลากร เช่น ความตั้งใจทำร้ายบุคลากร หรือบุคลากรได้รับลูกหลงจากเหตุความรุนแรงประการแรก
สำหรับความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรนั้น สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 1. การใช้ความรุนแรงกับบุคลากร การทำร้ายร่างกาย ซึ่งตรงนี้เข้าข่ายความผิดทางอาญา 2. การใช้วาจาข่มขู่ทำให้เกิดความกลัว ซึ่งเป็นได้ทั้งจากลูกหลงในเหตุความรุนแรงกรณีการบุกเข้ามาทำร้ายคู่อริ จากความไม่พึงพอใจหรือไม่ได้รับบริการที่ตัวเองต้องการ การถ่ายคลิปด้วยท่าทางที่ไม่เป็นมิตรซึ่งถือเป็นการข่มขู่ทางอ้อม โดยในต่างประเทศจะมีมาตรการป้องปรามเพื่อไม่ให้เรื่องเหล่านี้ถูกขยายจนกลายเป็นการทำร้ายบุคลากรในท้ายที่สุด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.เมธี กล่าวว่า ผลการศึกษาของต่างประเทศพบว่าผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาลจะมีด้วยกัน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษา เช่น คนร้ายที่เข้ามาปล้น เข้ามาทำร้าย 2. ผู้ป่วย 3. อดีตลูกจ้างของโรงพยาบาลที่ถูกให้ออก ซึ่งมีความไม่พึงพอใจกับผู้บริหาร 4. ญาติของบุคลากรที่เข้ามาทำร้ายบุคลากร เช่น ภรรยาตามมาทำร้ายสามีในโรงพยาบาลระหว่างทำงาน โดยส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งเรื่องส่วนตัว
สำหรับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเหตุรุนแรงนั้น ผลการศึกษาระบุว่ามีด้วยกัน 4 ปัจจัยใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1. บุคลากรทำตัวไม่เหมาะสม ซึ่งมักเป็นผลมาจากภาระงานมาก อารมณ์ไม่ดี จำนวนไม่เพียงพอ อายุน้อย ไม่มีความสามารถในการรับมือเหตุการณ์เฉพาะหน้า 2. คนไข้คาดหวังที่เกินจริง ไม่ยอมรับข้อจำกัด มีความเครียดจากค่ารักษาพยาบาล มึนเมา เสพยาเสพติด 3. โรงพยาบาลไปสร้างความเครียดให้ผู้ป่วย เช่น งบประมาณไม่พอ เตียงไม่พอ ไม่มีมาตรการหรือระบบป้องกันความรุนแรง 4. สังคมเสพติดข่าวและการนำเสนอข่าวความรุนแรง จนนำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ
“จะเห็นได้ว่าความรุนแรงโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ห้องฉุกเฉิน เหตุผลคือห้องฉุกเฉินเป็นด่านหน้า และผู้ป่วยทุกอย่างจะเข้ามากองอยู่ในห้องฉุกเฉินหมด นั่นหมายความว่าปัญหาคือห้องฉุกเฉินไม่ใช่ห้องฉุกเฉินจริงๆ แต่ทำหน้าที่เป็นกระโถนท้องพระโรง คือต้องรองรับปัญหาทุกๆ อย่างก่อนที่ปัญหาจะเข้าไปถึงโรงพยาบาล” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.เมธี กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.เมธี กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศมีการเก็บสถิติพยาบาลที่ทำงานในห้องฉุกเฉิน พบว่า70% หรือ 7 ใน 10 คน ถูกทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้วยวาจาและการกระทำ 43% ต้องกินไปทำงานไป พร้อมๆ กับการดูแลเอาใจญาติและผู้ป่วย 85% มีปัญหาเหนื่อยจากการทำงาน และ 50% ต้องขึ้นกะติดต่อกันเกิน 10 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่าเหตุความรุนแรงจะเกิดขึ้นกับผู้ช่วยพยาบาลมากที่สุด เนื่องจากเป็นผู้รับหน้าแทนพยาบาล ส่วนลำดับสามคือแพทย์ โดยแนวโน้มเหตุรุนแรงของคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้
ในส่วนของประเทศไทย ทุกวันนี้มีแพทย์ 6 หมื่นราย แต่ที่ทำงานอยู่จริงมีประมาณ 4 หมื่นราย ขณะที่พยาบาล 2 แสนราย ทำงานจริงมี 1.5 แสนราย ฉะนั้นภาระงานสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ 70 ล้านคน และจากประสบการณ์ตรงในการทำงานในแพทยสภากว่า 10 ปี ชัดเจนว่าปัญหายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาของต่างประเทศพบว่า การทำร้ายร่างกายมีโทษทางอาญาอยู่แล้ว แต่ในบางประเทศ เช่น อินเดีย มองว่าเพียงแค่นั้นยังไม่พอจึงได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมสำหรับเหตุรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์ โดยเพิ่มโทษปรับและเพิ่มโทษจำคุก ที่สำคัญก็คือการทำร้ายแพทย์พยาบาลถูกกำหนดให้เป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ หรืออย่างออสเตรเลีย หากเกิดเหตุกับแพทย์พยาบาลจะถือว่าเป็นอาชญากรรมรุนแรงที่ยอมรับไม่ได้ หรือแม้แต่อังกฤษ หากเพียงพิสูจน์ได้ว่าแพทย์พยาบาลถูกคุกคามด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว แม้จะยังไม่ลงไม้ลงมือก็ถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ในหลายประเทศยังมีการเก็บสถิติเหตุความรุนแรงอย่างเป็นระบบเพื่อใช้ในการวิเคราะห์แนวทางการป้องกัน ซึ่งสถิติเหล่านี้กลับไม่เคยมีการเก็บในประเทศไทย
- 132 views