กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงมหาดไทย ตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ขยายผลโครงการด้วยการพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี เก่งและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังแถลงข่าวโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงมหาดไทย ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า การพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี เก่งและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศไทย จะต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ช่วงปฏิสนธิในครรภ์จนอายุ 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาสูงสุดและยังเป็นรากฐานของการมีคุณภาพของคนๆ หนึ่งอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจึงเป็นโครงการที่ตอบสนองต่อการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับเด็กที่มั่นคง ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานด้านการดูแลและปกป้องสุขภาพมารดา และเด็กปฐมวัย โดยสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและวางแนวทางดำเนินงานตามโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต เริ่มตั้งแต่แม่ก่อนการตั้งครรภ์ แม่จะได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก ก่อนการตั้งครรภ์ 3 เดือน ฟรี เพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดของลูก เมื่อตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจครรภ์ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ ได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ไอโอดีน โฟลิกฟรี จนถึง 6 เดือนหลังคลอด เมื่อทารกคลอดได้กินนมแม่ในห้องคลอด และสนับสนุนให้กินนมแม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ควบคู่อาหารตามวัยเด็กได้รับวัคซีนสร้างภูมิต้านทานโรค การประเมินภาวะโภชนาการและการเลือกเมนูอาหารตามวัยของลูกในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก การตรวจพัฒนาการตามวัย การตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ การเจริญเติบโตและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในสถานบริการสาธารณสุข โดยมารดาช่วงตั้งครรภ์จะได้รับสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อดูแลสุขภาพตนเองและลูกควบคู่กับการได้รับความรู้ ฝึกทักษะการเลี้ยงดูลูกตามกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่ โดยให้ความรู้แก่แม่หรือผู้เลี้ยงดูให้ดูแลสุขภาพ โภชนาการ ดูแลสุขภาพช่องปากและส่งเสริมพัฒนาการตามกระบวนการ กิน กอด เล่นเล่า นอน เฝ้าดูฟัน และพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็กจะได้รับความรู้ตรงจากโปรแกรม ๙ ย่างเพื่อสร้างลูก เมื่อเด็กอายุ 3-5 ปี เป็นช่วงสมองส่วนบริหารพัฒนาสูงสุด ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนระดับชั้นอนุบาล
กรมอนามัย จึงได้ผลิตคู่มือการเรียนการสอนด้านสุขภาพตาม “คำสอนพ่อ” เพื่อให้คุณครูใช้เป็นคู่มือการจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบ STEM EDUCATION โดยบูรณาการเนื้อหา สุขภาพ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองแบบ Project approach ด้วยการลงมือทำปฏิบัติจริง นำความรู้ สู่ความคิดสร้างสรรค์ คิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสารและสร้างนวัตกรรม อีกทั้งผลิตคู่มือต้นแบบ “เลี้ยงลูกตามคำสอนของพ่อ” คุณธรรม 8 ประการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ครอบครัวได้ใช้ในการอบรม บ่มเพาะลูก
“นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ปกป้องให้เด็กรับนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนและกินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปี และมีการติดตามเด็กในโครงการฯ โดยใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อตรวจสอบการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ ดังนี้ 1) มารดาช่วงตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ตามนัดหรือไม่ 2) มีการบันทึกน้ำหนัก ส่วนสูงและจุดกราฟโภชนาการและประเมินพัฒนาการลูกหรือไม่ 3) มีการพาลูกไปตรวจสุขภาพ ตรวจพัฒนาการ ฉีดวัคซินตามนัดหรือไม่ และ 4) ได้ใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กอ่านและบันทึก การดูแลสุขภาพของแม่และลูกตามแนวทางการเลี้ยงดูเด็กตามวัยอย่างเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่องและเติบโตเป็นเด็กไทยที่ดี เก่ง และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 53 views