“ภายในปี 2080 หากนานาชาติไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น ประชากรโลกมากกว่า 1 พันล้านคน มีความเสี่ยงที่จะติดโรคที่มียุงเป็นพาหะ”
การคาดการณ์ดังกล่าวปรากฎใน งานวิจัยชื่อ Global expansion and redistribution of Aedes-borne virus transmission risk with climate change หรือ การขยายและกระจายความเสี่ยง จากการติดโรคที่เกิดจากไวรัสในยุงลาย อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ PLOS Neglected Tropical Disease เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
งานวิจัยดังกล่าว ศึกษาการแพร่ขยายของยุงลาย 2 สายพันธุ์ ได้แก่ Aedes aegypti และ Aedes albopictus ซึ่งเป็นพาหะนำโรคต่างๆ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ไข้ซิกา ไข้เหลือง และ ชิคุนกุนยา ยุงลายทั้ง 2 สายพันธุ์พบได้ทั่วไปในประเทศเขตร้อน โดยเฉพาะในแอฟริกา เอเชีย และ ละตินอมริกา พบบ้างประปรายในสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรป
หากประเทศนานาชาติไม่สามารถทำตามข้อตกลงปารีสที่จะร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส แล้ว นักวิจัยคาดการณ์ว่ายุงลายทั้ง 2 สายพันธุ์จะสามารถขยายพันธุ์ได้มากขึ้นในประเทศทางซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะในประเทศยุโรป
Sadie Ryan นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์ Carbon Brief ว่า ทีมนักวิจัยจำลองสถานการณ์ใน 4 แนวทาง ในกรณีที่แย่ที่สุดที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียส ประชากรยุงลายจะเพิ่มจำนวนขึ้นในซีกโลกเหนือ รวมทั้งสามารถขยายพันธุ์ได้ในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น
ขณะนี้ ยุงลายสามารถขยายพันธุ์ในประเทศยุโรปได้เพียง 1-2 เดือนต่อปี เท่านั้น สืบเนื่องจากมีอากาศหนาวเกือบตลอดปี ไม่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ หากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นแล้ว มีแนวโน้มที่ยุงลายจะสามารถขยายพันธุ์ได้ยาวนานถึง 4-6 เดือนต่อปี
ปกติแล้ว ยุงลาย Aedes aegypti สามารถขยายพันธุ์ได้ดีที่อุณหภูมิ 34 องศาเซลเซียส ส่วนสายพันธุ์ Aedes albopictus สามารถขยายพันธุ์ได้ดีที่อุณหภูมิ 29.4 องศาเซลเซียส
ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย อาจได้รับอานิสงค์จากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น เพราะสภาพอากาศไม่เหมาะสมกับการขยายพันธุ์ของยุงลายอีกต่อไป ขณะนี้ ยุงลายสามารถขยายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตลอดปี อาจลดลงเหลือ 4-6 เดือนต่อปี อย่างไรก็ตาม อากาศที่ร้อนขึ้นจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในด้านอื่นๆ เช่น ฮีทสโตรค และไข้ เป็นต้น
นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ว่าการแพร่กระจายของโรคที่มียุงเป็นพาหะ จะทำให้เกิดภาระทางสุขภาพในประเทศต่างๆ ทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องมีมาตรการรองรับในกรณีที่เกิดการแพร่กระจายของโรค
องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ไว้ว่า 1 ใน 6 ของความเจ็บป่วยและพิการในโลก เกิดจากโรคที่มียุงเป็นพาหะ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะสร้างภาระทางสุขภาพที่ 17% ของภาระสุขภาพที่เกิดจากโรคทั้งหมด
การศึกษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกใน 8 ประเทศโดยองค์การอนามัยโลก ชี้ว่าผู้ป่วยต้องรักษาตัวเฉลี่ย 18.9 วัน คิดเป็นมูลค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 16,960 บาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 49,000 บาทต่อคน
โดยหากโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มประชากรคนจนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการรักษา และไม่สามารถเสียค่ารักษาโรคได้
ที่มา:
- 585 views