เมดโทรนิค และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามความร่วมมือกรอบกลยุทธ์ในการพัฒนาความก้าวหน้าด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
ความร่วมมือด้านการทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านเครื่องมือแพทย์และศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์รวมถึงการนำนโยบายการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่าผลการรักษาทางคลินิกมาใช้ในเชิงปฏิบัติโดยเริ่มที่โปรแกรมลดการติดเชื้อจากการฝังอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง
ดับบลิน และ กรุงเทพ – บริษัท เมดโทรนิค จำกัด (มหาชน) (NYSE:MDT) ผู้นำด้านเทคโนโลยีอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ระดับโลกได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยที่ให้บริการดูแลรักษาโรคในระดับตติยภูมิที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและในระดับโลก ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านกลยุทธ์เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และการนำเอานโยบายการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-Based Healthcare - VBHC) และผลการรักษาทางคลินิกมาใช้ในเชิงปฏิบัติซึ่งจะเริ่มต้นที่โปรแกรมลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ติดตั้งอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝังเข้าไปในร่างกายด้วยถุงหุ้มป้องกันการติดเชื้อ
บันทึกความเข้าใจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมการวิจัยและการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (VBHC) ในประเทศไทย โดยกรอบความร่วมมือด้านกลยุทธ์นี้จะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ของผู้ป่วยและบุคคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงการพัฒนาประสิทธิภาพทางคลินิกและการศึกษา ทั้งนี้ยังสร้างรากฐานสำหรับการนำแนวนโยบายดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (VBHC) ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเมดโทรนิคสนับสนุนโรงพยาบาลรามาธิบดีในการยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพไปอีกขั้นด้วยการพัฒนาในการรักษาเพื่อผลการรักษาทางคลินิกที่ดีขึ้น และเพิ่มการเข้าถึงนวัตกรรมทางการรักษาที่ทันสมัยมากขึ้น
หัวใจหลักของความร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นการร่วมมือระหว่างเมดโทรนิคกับศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (The Medical Innovations Development Center :MIND Center) ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมมือกันในการเร่งสร้างนวัตกรรมที่ก้าวล้ำและการคิดค้นเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งโรงพยาบาลรามาธิบดีมีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ การวิจัยทางคลินิก ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพจากระบบการรักษาจริงและหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและการศึกษาทางการแพทย์ในระดับประเทศและภูมิภาค
ยิ่งไปกว่านั้น โครงการพัฒนาแนวนโยบายการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่าผลการรักษาทางคลินิกมาใช้ในเชิงปฏิบัติโดยเริ่มที่โปรแกรมลดความเสี่ยงของการติดเชื้อของผู้ป่วยหลังใส่อุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝังเข้าไปในร่างกายด้วยถุงหุ้มป้องกันการติดเชื้อระหว่างเมดโทรนิคกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลการรักษาทางคลินิคด้วยอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง มีผลการวิจัยจาก Worldwide Randomized Antibiotic Envelope Infection Prevention Trial (WRAP-IT) ซึ่งตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine1 แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง (CIEDs) และใช้ถุงลดการติดเชื้อเคลือบยาปฏิชีวนะแบบย่อยสลายได้เอง (Absorbable Antibacterial Envelope) สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้สูงถึง 40 เปอร์เซนต์ และลดการติดเชื้อใต้ผิวหนังบริเวณที่ฝังเครื่อง (Pocket Infection) ได้มากถึง 61 เปอร์เซนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่รักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวะนะตามการรักษาแบบมาตรฐาน จากโปรแกรมดังกล่าว ผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝังของเมดโทรนิคแล้วเกิดการติดเชื้อภายหลังจากการติดตั้งอุปกรณ์ภายในระยะเวลา 12 เดือน ทางบริษัทฯ จะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง ถุงลดการติดเชื้อเคลือบยาปฏิชีวนะแบบย่อยสลายได้เอง สายนำไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อจริง
ระบบสาธารณสุขและระบบดูแลสุขภาพกำลังเผชิญความท้าทายอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงการบริหารงบประมาณด้านสุขภาพจนถึงปัญหาการเข้าถึงการรักษา ทั้งนี้ผู้ให้บริการและผู้บริหารงบประมาณต่างพบปัญหาในการพัฒนาการให้บริการเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้นในขณะที่ต้นทุนโดยรวมต้องไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ความท้าทายของประเทศไทยด้านการให้บริการด้านสาธารณสุขของบุคคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐคือ ความต้องการในการรับบริการที่สูงขึ้น งบประมาณด้านสุขภาพถูกจำกัด กระบวนการ
ให้บริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และระยะเวลาที่ยาวนานของผู้ป่วยที่รอรับการรักษา เมดโทรนิคและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการที่มีประสิทธิภาพโดยไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายค่ด้านสุขภาพลง ในขณะที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น
“คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งเน้นการผลักดันนวัตกรรมทางการแพทย์และรูปแบบการให้บริการการรักษาสุขภาพที่มีคุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้ป่วยของเรา ด้วยความร่วมมือกับทางเมดโทรนิคในครั้งนี้ จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงการของศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND Center) และความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้จะเป็นการร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนงานด้านการสร้างนวัตกรรมทางด้านเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ในอนาคตเราจะทำให้ผู้ป่วยของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการดูแลที่ดีขึ้น” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธารา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
“ความร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่น่าตื่นเต้นไม่เฉพาะสำหรับเมดโทรนิคและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ยังรวมไปถึงสาธารณสุขในวงกว้าง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความตั้งใจในการนำหลักการการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่ามาใช้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนระบบสาธารณสุขโดยเน้นการพัฒนาผลการรักษาที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยในราคาสมเหตุสมผล อีกทั้งยังช่วยยกระดับมาตรฐานในการให้บริการการรักษาผู้ป่วยอย่างยั่งยืน เมดโทรนิคเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น” นายโอมาร์ อิชรัก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมดโทรนิค กล่าว
เกี่ยวกับเมดโทรนิค
บริษัท เมดโทรนิค จำกัด (มหาชน) (www.medtronic.com) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ระดับโลก – เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เพื่อฟื้นฟูสุขภาพและเพื่อยืดอายุผู้คนนับล้านทั่วโลก เมดโทรนิคมีพนักงานมากกว่า 86,000 คนให้บริการแก่แพทย์ โรงพยาบาลและผู้ป่วยในกว่า 150 ประเทศ บริษัทฯ มุ่งเน้นที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกเพื่อดูแลสุขภาพที่ดีด้วยกัน
- 128 views