ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2562 เกิดอุบัติเหตุ 367 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 42 ราย ผู้บาดเจ็บ 381 คน รวม 6 วัน (11 – 16 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 3,068 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 348 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,176 คน กำชับจังหวัดดูแลการเดินทางของประชาชนไม่ให้ตกค้าง เร่งตรวจสอบข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงสาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป
นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 367 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 42 ราย ผู้บาดเจ็บ 381 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.25 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 27.79 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.03 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 43.05 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.51 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 25.89 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 31.21
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,040 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,375 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,048,847 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 239,295 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 64,829 ราย ไม่มีใบขับขี่ 57,087 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (19 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และระยอง (จังหวัดละ 4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (26 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (11 – 16 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 3,068 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 348 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,176 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พังงา แม่ฮ่องสอน สุโขทัย และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (119 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา และอุดรธานี (จังหวัดละ15 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (126 คน)
นายประสาร กล่าวต่อไปว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับจากภูมิลำเนาและการท่องเที่ยวเรียบร้อยแล้ว แต่อาจมีบางส่วนที่ยังคงเดินทางอยู่ ศปถ.ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนทุกเส้นทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ และสถานีรถไฟทุกแห่งไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ให้เข้มงวดการตรวจความพร้อมของรถ และพนักงานขับรถ รวมถึงกวดขันไม่ให้มีรถเสริมที่ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอำเภอที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง (พื้นที่สีแดงและสีส้ม) เพื่อให้การขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนมีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียได้มากที่สุด
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัดจัดประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 พร้อมทั้งเร่งตรวจสอบข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน นำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ.จะรวบรวมปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนให้คณะกรรมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางในการป้องกันและอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาล ทั้งนี้ ศปถ.ยังคงรณรงค์การสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)เปิดเผยว่า ช่วงเดินทางกลับของประชาชน ส่วนใหญ่มีอาการวูบหลับใน ทำให้รถเสียหลักไร้รอยเบรค เกิดการชนท้าย ชนเสาไฟฟ้า ชนต้นไม้ ตกลงคลองทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งจากนี้มาตรการระยะยาว ประชาชนคนใช้รถใช้ถนนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมความปลอดภัย ตลอดจนการวางแผนการเดินทางให้สอดคล้องกับสภาพร่างกาย เส้นทางระยะยาวต้องหยุดพักบ่อยๆ ทั้งนี้เสนอให้เพิ่มจุดจอด จุดพัก จุดนอนให้มากขึ้น การขับขี่บนถนนต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขับขี่ที่เร่งรีบ เป็นการขับตาม ไม่เปลี่ยนเลนไปมา ให้สัญญาณไฟก่อนเปลี่ยนเลน ขับตามกันต้องเว้นระยะที่พอเหมาะจะดีที่สุด
- 6 views