สสส.จับมือกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รณรงค์สร้างความตระหนัก สงกรานต์ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ เปิดผลสำรวจ 5 พฤติกรรมสุดยี้ช่วงสงกรานต์ เมา ลวนลาม คุกคามทางเพศ อึ้งร้อยละ 48.7 ถูกลวนลามสงกรานต์
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 เดอะฮอลล์ บางกอก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดแถลงข่าวรณรงค์รับมือสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ” ทั้งนี้ในงานได้ร่วมกันปล่อยขบวนสามล้อประชาสัมพันธ์ “สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ”
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ ว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อีกทั้งยังต้องการสื่อสารสร้างความเข้าใจเคารพให้เกียรติ ในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครอง จากการคุกคามทางเพศ ที่สำคัญเพื่อสร้างกระแสให้สังคมร่วมกันผลักดัน เกิดเครือข่ายเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาถูกคุกคามทางเพศ และกระตุ้นผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ตระหนักถึงผลกระทบการจัดงานที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายเลิศปัญญา กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลนิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,250 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 6 เมษายน 2560 เรื่อง“เทศกาลสงกรานต์ : การถูกลวนลาม – คุกคามทางเพศ” พบว่า ร้อยละ 55.20 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม ร้อยละ 43.28 ระบุว่า เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ความคึกคะนอง หรือมึนเมาขาดสติ ร้อยละ 31.28 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมที่นำมาสู่การก่ออาชญากรรมอื่น ๆ เช่น การข่มขืนกระทำชำเราอนาจาร การทะเลาะวิวาท ดังนั้น แอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุหลัก เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม การคุกคามทางเพศผู้หญิงถูกฉวยโอกาสในเทศกาลนี้
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี2560 คนไทยดื่มสุรา ร้อยละ28.4 ที่น่าห่วง คือ 2.75 ล้านคนติดสุรา หรือมีพฤติกรรมดื่มแบบอันตราย สำหรับสงกรานต์ ปี2561 ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่าคนไทยดื่มสุรา ร้อยละ36 ผลกระทบรอบตัวมากมาย ทั้งปัญหาสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคตับแข็ง มะเร็ง และหลอดเลือดสมอง ปัญหาจากอุบัติเหตุจราจรที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต กว่าปีละ 20,000 คน และยังก่อให้เกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในปี 2560 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มผู้หญิงร้อยละ 59.3 เคยถูกลวนลามทางเพศ
“สสส.รณรงค์เพื่อให้คนไทยลดการบริโภคสุราเพื่อลดต้นเหตุของปัญหาต่างๆ สนับสนุนภาคีเครือข่ายภาคสังคม อาทิเช่น สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาการดื่มสุรา และรณรงค์ลดการดื่มสุรา ปัจจุบันเรามีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าที่ สสส.ร่วมขับเคลื่อนถึง 164 แห่ง ที่รู้จักกันดีในนามถนนตระกูลข้าวจำนวน 51 แห่ง อาทิ ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ถนนข้าวแต๋น จ.น่าน ถนนข้าวเม่า จ.มหาสารคาม ถนนข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี เป็นต้น แล้วยังมีพื้นที่ปลอดภัยในถนนและพื้นที่เล่นน้ำต่างๆ อีก 113 แห่ง อาทิ พื้นที่รอบคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสีลม กรุงเทพฯ ถนนดีบุก หน้าห้าง Lime Light Avunue จ.ภูเก็ต และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เป็นต้น ทั้งนี้อยากเชิญชวนให้ประชาชนเล่นสงกรานต์ในพื้นที่ปลอดภัยปลอดเหล้า อยากฝากให้ทุกคนเคารพสิทธิ เล่นน้ำแบบวิถีไทย ร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความสุข ความปลอดภัยช่วงสงกรานต์นี้ด้วยกัน” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิได้ลงพื้นที่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 12 ปี – 25 ปี จำนวน 2,400 ตัวอย่างในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล และในต่างจังหวัดทั้ง 4 ภาค โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่13-27 มีนาคม 2562 พบว่า
ร้อยละ 48.7 เคยถูกลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงและน่าเบื่อหน่าย สร้างปัญหามากในช่วงสงกรานต์ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เมาขาดสติ 2.ฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศ 3.ทะเลาะวิวาท 4.อนาจารโป๊เปลือย 5.แว๊นซิ่ง ส่วนปัญหาอื่นในลำดับถัดมาคือ เสียงดังอึกทึก โดนแซวพูดจาไม่ดี ใช้อุปกรณ์อันตรายเช่น แมงลัก น้ำแข็ง ปืนแรงดันสูง บังคับให้ดื่มแอลกอฮอล์ และดักรถเพื่อรีดไถเงินข่มขู่ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ คือ ร้อยละ 32.9 มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ20.4 การการบังคับใช้กฎหมาย ร้อยละ 19 คึกคะนอง ร้อยละ15.3 ค่านิยมผิดๆ และ12.4 ไม่รู้จักเคารพให้เกียรติผู้อื่น เมื่อถามว่า สงกรานต์ปีนี้จะดื่มเหล้าหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกินครึ่ง ร้อยละ 59.1ระบุว่า ไม่ดื่ม อีกทั้งร้อยละ 89.6 เห็นด้วยว่าควรจัดพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำปลอดเหล้า และร้อยละ73.5เห็นด้วยว่าควรงดจำหน่ายสุราในวันที่13เมษายน
“นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญแล้ว รากฐานของปัญหายังมาจากระบบคิดเป็นชายเป็นใหญ่ ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ การที่เด็ก เยาวชน ไม่ถูกสอนให้รู้ถึงการเคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น การเรียนรู้เสรีภาพอย่างมีขอบเขต ดังนั้นความคิดความเชื่อที่ผิดๆว่าสงกรานต์คือช่วงเวลาทองของการฉวยโอกาสจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเทศกาลใดหรือผู้เสียหายจะแต่งตัวแบบไหน เราก็ไม่มีสิทธิไปละเมิดเขา ตรงนี้คือจุดสำคัญ การกล่าวโทษเรื่องการแต่งตัว เป็นการโยนปัญหาทั้งหมดให้ผู้หญิง แล้วละเลยผู้ก่อเหตุ คนทำความผิดที่ยังคงลอยนวล จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” นายจะเด็จ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่าปัญหาการคุกคามทางเพศ การลวนลาม ละเมิดสิทธิในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นมรดกทางความคิดที่ตกทอดมาอย่างผิดๆ สร้างความเสียหาย เรามักจะได้ยินบ่อยๆว่าสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ตำรวจไม่ควรเคร่งครัดมากเกินไป คนเขาจะสนุกมีความสุขกัน แต่ในความเป็นจริงกฎหมายไม่มีเว้นวรรคให้กับช่วงเวลาใด การไม่บังคับใช้กฎหมายจะนำพามาซึ่งความปั่นป่วนในสังคม ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต เป็นการใช้สิทธิเกินส่วนของคนบางกลุ่ม กระทบต่อผู้อื่นและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้ก่อเหตุต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น และที่สำคัญต้องรู้ว่าเหตุจากการมึนเมาจะนำมากล่าวอ้างในการบรรเทาโทษใดๆมิได้
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ระบุไว้ชัดว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” ตรงนี้เป็นหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ชัดเจน ส่วนปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ การคุกคามทางเพศ จับก้นจับหน้าอก อวัยวะเพศ กระทำอนาจารผู้อื่น โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การอนาจารซึ่งหมายถึงกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล เปลือย เปิดเผยร่างกาย หรือลามก โทษปรับไม่เกิน 500 บาท การเมาประพฤติตนวุ่นวายในที่สาธารณะ โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนความผิดเกี่ยวตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ก็มีอยู่หลายมาตราเช่น ห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือข่ายให้คนเมาครองสติไม่ได้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามดื่มบนรถขณะรถอยู่บนทาง วิ่งหรือจอดบนถนน โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การห้ามขายบนทาง ถนน ไหล่ทาง, ห้ามจัดส่งเสริมการขายลด แลก แจกแถม ก็มีโทษเท่ากัน ส่วนพระราชบัญญัติจราจร พ.ศ. 2522 กรณีเมาแล้วขับ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น” พ.ต.อ.เผด็จ กล่าว
- 50 views