โรงพยาบาลชลบุรีเยี่ยมยอด ประยุกต์เทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติ กับการแพทย์ สร้างโมเดลจำลองเพื่อวางแผนก่อนผ่าตัด ช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลอื่นๆ ผอ.ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ระบุ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย แต่ปัจจุบันยังไม่ยั่งยืนเพราะใช้งบกองทุนตัวเอง หากเอกชนสนับสนุน จะสามารถยกระดับการพิมพ์ชั้นสูงได้
นพ.ธนะสิทธิ์ ก้างกอน ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลชลบุรี กล่าวถึงเวชศาสตร์ไตรมิติ “Chonburi Medical 3D Printing” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี 3 มิติ มาสนับสนุนการรักษา ว่า โรงพยาบาลชลบุรีได้นำเทคโนโลยีเกี่ยวกับภาพ 3 มิติมาใช้ในทางการแพทย์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
1. ในส่วนของ software เช่น การนำแอปพลิเคชันมาใช้เพื่อประเมินพื้นที่ผิวแผลไฟไหม้ เทคนิคการถ่ายภาพด้วยกล้องธรรมดาให้ออกมาเป็นภาพ 3 มิติ การใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพและสร้างเป็นไฟล์ 3 มิติขึ้นมาเพื่อทดแทนการใช้เครื่องสแกนราคาแพง
2. ส่วนของงาน 3 มิติโดยตรง เช่น 3D Printing พิมพ์โมเดลออกมาใช้สำหรับสอนนักเรียนแพทย์ และการนำมาเป็นโมเดลเพื่อใช้วางแผนการผ่าตัดล่วงหน้า รวมถึงใช้ในการผ่าตัดจริงๆ ได้
นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลชลบุรีเป็น excellent center ด้านอุบัติเหตุและมะเร็ง จึงมีผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุโดยเฉพาะใบหน้าและกะโหลกศีรษะค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมาการผ่าตัดเป็นไปด้วยความลำบาก ขณะที่จำนวนคนไข้ก็มีสูงขึ้น จึงได้มองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจนนำมาซึ่งการใช้เทคโนโลยี 3 มิติ ในปัจจุบัน
“คนไข้ที่กระดูกเบ้าตาแตก เกิดปัญหามองเห็นภาพซ้อน การผ่าตัดจะทำได้ยากมาก เนื่องจากเมื่อแพทย์เปิดแผลใต้ตาก็จะมองเห็นจากมุมมองด้านหน้าเพียงอย่างเดียว การนำแผ่นโลหะเข้าไปรองกระดูก การตัดแผ่นโลหะให้พอดีเป็นไปได้ยากมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่เมื่อมีเทคโนโลยี 3 มิติ เราก็ใช้วิธีการพิมพ์กระดูกใบหน้าและกระดูกเบ้าตาออกมาเป็นโมเดล 3 มิติก่อน จากนั้นเราก็นำแผ่นโลหะมาตัดขนาดรูปร่างให้พอดีเตรียมเอาไว้ เมื่อถึงเวลาผ่าตัดจริงเราก็ไม่ต้องมานั่งวัดกันใหม่ แต่สามารถเอาแผ่นโลหะที่เตรียมเอาไว้ไปใส่ได้อย่างพอดี ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดได้ถึง 30 นาที” นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว
นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เทคโนโลยี 3 มิติไม่ใช่ของใหม่ และที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการทำโมเดลจำหน่ายโดยภาคเอกชนมาอย่างยาวนาน แต่มักจะแพร่หลายอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากมีราคาสูง 2-5 หมื่นบาท ขณะเดียวกันในอดีตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีราคาแพงมากหลักสิบล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3-4 หมื่นบาท ทางโรงพยาบาลชลบุรีจึงเริ่มศึกษาและนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาประยุกต์ใช้ จนสามารถสร้างโมเดลอวัยวะต่างๆ ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคิดว่าเป็นที่แรกในประเทศไทย
สำหรับโมเดลต่างๆ ที่โรงพยาบาลชลบุรีสามารถผลิตได้ อาทิ กระดูกขากรรไกร กระดูกโหนกแก้ม กระดูกเชิงกราน ใบหู ซึ่งทั้งหมดจะช่วยในการวางแผนการรักษาคนไข้เฉพาะราย ซึ่งขณะนี้มีหลายโรงพยาบาลที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลชลบุรี เช่น เมื่อโรงพยาบาลต่างๆ มีเคสผู้ป่วยในลักษณะนี้ ก็จะส่งไฟล์มาให้โรงพยาบาลชลบุรีสร้างโมเดลจำลองขึ้นมา และส่งคืนกลับไปทางไปรษณีย์ เพื่อให้โรงพยาบาลต้นทางวางแผนการรักษาต่อไป
“ที่ผ่านมาเทคโนโลยีนี้มักจะอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ และคนไข้ที่มีกำลังทรัพย์จึงจะเข้าถึงได้ แต่โรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลภูมิภาคและคนไข้ก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ทางโรงพยาบาลจึงพยายามพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาในราคาที่ไม่แพง เพื่อช่วยให้คนไข้กลุ่มถึงเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลชลบุรีใช้งบประมาณจากกองทุนของโรงพยาบาลเอง จึงยังไม่มีความยั่งยืน ดังนั้นหากบริษัทเอกชนที่ต้องการสนับสนุนการพัฒนาทางการแพทย์ โรงพยาบาลชลบุรีก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
“อย่างบริษัท ปตท. หรือ SCG ที่สนับสนุนโรงเรียนแพทย์อยู่ หากมาช่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดที่เร็วขึ้น เช่น เราอาจพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถพิมพ์ชิ้นงานใส่เข้าไปในตัวคนไข้ได้เลย โดยไม่ต้องทำเป็นโมเดลแล้วประกอบอยู่ข้างนอก ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้แล้ว เป็นพลาสติกชีวภาพชนิดหนึ่งที่สามารถหลอมออกมาแล้วใส่เข้าไปได้เลย” นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว
นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นสำคัญคือการผลิตเครื่องมือแพทย์ขึ้นมาเฉพาะคน จำเป็นต้องผ่านมาตรฐานอนุญาต เช่นจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ยังติดระเบียบยุ่งยากอยู่ ซึ่งในอนาคตเราคิดว่าจะสามารถจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (LAB) มาตรฐานสำหรับผลิตเครื่องมือแพทย์เอง ดังนั้นตรงนี้จำเป็นต้องมีการพูดคุยกันเพื่อให้การขออนุญาตง่ายขึ้น และเป็นสิ่งที่อยากได้รับการสนับสนุน
ขอบคุณภาพจากเพจ Chonburi Medical 3D Printing
- 907 views