(1)
ปฏิบัติการยิ่งใหญ่ในระดับมนุษยชาติที่เรากำลังจะเล่าถึง มีจุดเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 5-6 ปีก่อน
“อีวาน โอเวนซิ่ง” นักออกแบบหุ่นยนต์ และผู้ออกแบบกลไกในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “ทรานส์ฟอร์เมอร์” (Transformers) ได้ร่วมกับเพื่อนของเขาคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาชิ้นหนึ่ง โดยหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นผลงานที่ช่วยเยียวยาริ้วแผลของเพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เขาจึงมุ่งมั่นทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งสามารถออกแบบ “นิ้วเทียม” ที่พิมพ์ด้วย “เครื่องพิมพ์สามมิติ” ได้สำเร็จในเวลาต่อมา และช่างไม้ชาวแอฟริกาใต้ซึ่งพลาดท่าถูกเครื่องจักรตัดนิ้วขาดคือชายคนแรกที่ได้รับเกียรติให้ทดลองใช้นวัตกรรมชิ้นนี้
ผลการทดสอบกายวัสดุเทียมที่ “อีวาน โอเวนซิ่ง” และคณะเป็นผู้บุกเบิกนั้นเป็นไปอย่างยอดเยี่ยม ความสำเร็จจึงพัฒนาและถูกส่งต่อไปยังผู้ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ กลุ่มเด็กที่ถูกถุงน้ำคร่ำรัดมือจนพิการตั้งแต่กำเนิด
ที่สุดแล้ว นวัตกรรมชิ้นนี้กลายมาเป็นที่รู้จักทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาในเวลาอันสั้น
“คุณรู้ไหมว่าที่สหรัฐอเมริกาสามารถทำมือเทียม-แขนเทียมให้กับคนพิการด้วยวิธีง่ายๆ เพียงแค่มีเครื่องพิมพ์สามมิติ” James Quilty สามีชาวต่างชาติ เล่าความก้าวหน้านี้ให้ พญ.ปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสิรินธร ภรรยาชาวไทยฟัง
แน่นอน เธอตื่นตาตื่นใจกับข้อมูลนี้
พญ.ปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ และสามี James Quilty
รายละเอียดและความเป็นไปได้ที่สามีบอกเล่า กลายมาเป็นแรงผลักดันให้คุณหมอปริยสุทธิ์คิดถึงโอกาสที่จะสิ้นสุดความพิการในประเทศไทย แต่สิ่งที่เธอและสามีไม่เข้าใจก็คือ เหตุใดนวัตกรรมที่กำลังแพร่หลายอยู่ในต่างประเทศ จึงไม่มีการพูดถึงหรือนำเข้ามาในประเทศไทยเลย
ในระหว่างที่คุณหมอปริยสุทธิ์ยังไม่กระจ่างแก่ความสงสัย ธรรมะได้จัดสรรให้เธอย้ายงานมาประจำการอยู่ที่ โรงพยาบาลสิรินธร ต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแล “นิคมโรคเรื้อนโนนสมบูรณ์”
“โรคเรื้อน” อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวและอยู่ห่างจากความเข้าใจของใครหลายคน จึงมีน้อยคนที่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วสถานการณ์ของโรคเรื้อนรุนแรงถึงขั้นที่เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกมาประกาศว่า โรคเรื้อนกำลังเป็นปัญหาหลักของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศอินเดีย ปากีสถาน และนับเป็นต้นเหตุของความพิการ “ถาวร”
โรงพยาบาลสิรินธร และ จ.ขอนแก่น จึงกลายมาเป็นชัยภูมิที่เหมาะควรอย่างยิ่ง สำหรับ พญ.ปริยสุทธิ์ ที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อผ่อนคลายสิ่งที่รบกวนในใจของเธอ
“ที่นี่เองที่ทำให้หมอมีโอกาสได้ทดลองนำมือเทียมจากสหรัฐอเมริกาซึ่งสามีเป็นผู้พิมพ์ส่งมาให้ ไปสวมใส่แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อน และไม่น่าเชื่อว่ามือเทียมสามารถเข้ากับความพิการของเขาได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยที่ไม่เคยมีนิ้วก็กลับมาหยิบจับ เขียนหนังสือ หรือประกอบกิจกรรมอื่นๆ ได้” พญ.ปริยสุทธิ์ ระบุ
“เราสองคนดีใจกันมาก” หมายถึงเธอและสามีที่ยังทำงานอยู่ ณ สหรัฐอเมริกา ในขณะนั้น
(2)
แม้ว่าเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติจะไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่สำหรับประเทศไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณหมอปริยสุทธิ์และสามี คือผู้ที่ร่วมกันวางอิฐก้อนแรกในการ “เชื่อมร้อย” สะพานของโลกแห่งความพิการเข้ากับโลกแห่งความปกติ
“เมื่อหมอค้นพบว่ามือเทียมที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติเข้ากับผู้พิการได้เป็นอย่างดี หมอก็นำเสนอเรื่องนี้กับผู้บริหารของโรงพยาบาลสิรินธร และท่านผู้บริหารก็อนุญาตให้เราทดลองทำมือเทียมจากเครื่องพิมพ์สามมิติเองเป็นครั้งแรก” เธอ เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
พญ.ปริยสุทธิ์ ร่วมกับทีมงานไม่กี่ชีวิตทดลองทำกายอุปกรณ์เทียมจากเครื่องพิมพ์สามมิติ อันประกอบด้วยแขนและมือเทียม จนกระทั่งสำเร็จและใช้ได้จริงในปี 2560
ผู้พิการจากโรคเรื้อนค่อยๆ เข้ามารับชีวิตใหม่กลับคืน
ความสำเร็จดำเนินเรื่องทอดยาวออกไปสักระยะ แต่นั่นก็เป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ยด้วยไม่สามารถก้าวข้ามเพดานข้อจำกัดที่มี เพราะศักยภาพของโรงพยาบาลสิรินธรและกำลังของคุณหมอปริยสุทธิ์มีขีดสุด และด้วยกำลังเพียงเท่านี้คงไม่สามารถยุติความพิการของผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวชาวไทยที่มีอยู่ราวๆ 1.1 ล้านคนได้เพียงลำพัง
ทว่า ด้วยอานิสงส์แห่งกุศลบุญจากหยาดเหงื่อ แรงงาน และความตั้งใจอันแน่วแน่ ... ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2560
“หลังจากที่เราทดลองทำกายอุปกรณ์ให้ผู้ป่วยโรคเรื้อนได้สำเร็จในช่วงปลายปี 2560 ก็ปรากฏว่าฟ้าเมตตา คือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านเสด็จมาที่โรงพยาบาลสิรินธรเป็นการส่วนพระองค์ จำได้แม่นยำว่าตรงกับวันที่ 15 ธันวาคม 2560
“รถพระที่นั่งมาจอดโดยที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า หมอจึงนำผู้ป่วยโรคเรื้อนที่สวมมือเทียมอยู่ไปเฝ้าฯ รับเสด็จ และมีโอกาสได้กราบทูลพระองค์ท่านว่า นี่คือมือเทียมสามมิติซึ่งมีต้นทุนการผลิตประมาณพันกว่าบาท ซึ่งถูกกว่ามือเทียมโดยทั่วไปที่ราคาประมาณ 7 หมื่นบาท
“มือเทียมและแขนเทียมเหล่านี้ใครๆ ก็สามารถทำได้ แม้แต่ข้าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นจิตแพทย์และได้เรียนรู้จากสามีชาวต่างชาติก็สามารถผลิตขึ้นมาได้ เพราะเทคโนโลยีไม่ยาก ต้นทุนไม่สูง ไม่เกินกำลังของคนไทย
“หมอยังได้กราบทูลพระองค์ท่านต่อไปอีกว่า ตนเองมีความประสงค์อยากจะใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยเหลือนายทหารผ่านศึกที่แขนขาด และอยากถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้ทหารผ่านศึกสามารถผลิตกายอุปกรณ์เองได้ เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้พิการรายอื่นๆ ต่อไป”
ถัดจากนั้น 13 วัน คือในวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ก็มีโทรศัพท์สายหนึ่งมาถึง พญ.ปริยสุทธิ์
ปลายสายแนะนำตัวว่าเป็นแพทย์หลวง พร้อมนำความมาแจ้งว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระเมตตาและมีพระราชกระแสที่จะพระราชทานงบประมาณสนับสนุน โดยให้โรงพยาบาลสิรินธรสร้างความร่วมมือกับมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทดลองทำกายอุปกรณ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติให้แก่ทหารผ่านศึกที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) แห่งแรกจึงถือกำเนิดขึ้นในโรงพยาบาลสิรินธร
(3)
“พอสามีหมอทราบข่าวก็ลางานจากต่างประเทศกลับมาช่วยหมอทำงานเรื่องนี้ฟรีๆ”
คุณหมอปริยสุทธิ์ เล่าว่า เมื่อโรงพยาบาลสิรินธรมีห้องปฏิบัติการแล้ว นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธร รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีความเชื่อร่วมกันว่า “โอกาสที่จะสิ้นสุดความพิการได้เกิดขึ้นแล้ว” ต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะเดินทางไปพูดคุยกับนายอำเภอบ้านแฮด
“หมอก็ไปเล่าให้ท่านฟังว่าคนพิการในอำเภอของเราซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในนิคมโนนสมบูรณ์นั้น อาจมีมากกว่าคนพิการทั้งจังหวัดในบางจังหวัดอีก และคนพิการเหล่านั้นมีความต้องการมือเทียม-แขนเทียม เมื่อนายอำเภอท่านฟังท่านก็เห็นด้วย ท่านดีมาก พอถึงวันราชประชาสมาสัย 16 ม.ค. 2561 ท่านก็ช่วยจัดผ้าป่าการกุศลเพื่อตั้งกองทุนสร้างมือเทียมจากเครื่องพิมพ์สามมิติขึ้น
“จากนั้นเราก็เดินทางไปพบบุคคลที่มีใจอันเป็นกุศลในจังหวัด ร้องขอให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์สามมิติที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เมื่อได้เงินและได้ของจากแรงศรัทธาของมหาชนแล้ว พวกเราก็ทำงานคู่ขนานกันไป คือทั้งสร้างมือเทียมให้กับทหารผ่านศึก และสร้างมือเทียมให้กับผู้พิการทุกคน
“เราจะให้มือเทียม-แขนเทียมโดยปราศจากเงื่อนไข เราจะไม่ถามว่าผู้พิการใช้สิทธิอะไร มีเงินหรือไม่ ใครต้องการ ... เราให้ฟรีทั้งหมด” นี่คือเจตนารมณ์ตั้งต้น ที่ตั้งมั่นมาจนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการผลิตกายอุปกรณ์เทียม โรงพยาบาลสิรินธรได้ส่งมอบมือเทียม-แขนเทียม ให้กับทหารผ่านศึก และบุคคลทั่วไปทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมแล้วราวๆ 80 ราย
จำนวน 80 ราย อาจดูน้อยเมื่อเทียบเคียงกับตัวเลขผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวมือ-แขน ที่มีอยู่ราวๆ 5 แสนรายทั่วประเทศ
แต่ตัวเลขเดียวกันนั้นนับได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ หากพิจารณากันในมุมที่ว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีผู้พิการแม้แต่รายเดียวที่ได้รับโอกาสเช่นนี้
มากไปกว่านั้น อย่างที่เล่าไว้ตั้งแต่ต้นว่าการผลิตมือเทียม-แขนเทียมของโรงพยาบาลสิรินธร พุ่งเป้าไปที่การให้ความช่วยเหลือผู้พิการจากโรคเรื้อนเป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็น “ความยิ่งใหญ่ในระดับโลก”
นั่นเพราะโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยโรคเรื้อนในหลายๆ ประเทศจะไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล ส่วนใหญ่มักจะถูกทิ้งขว้างด้วยความไม่เข้าใจธรรมชาติของโรค แต่สิ่งที่ประเทศไทยทำคือการให้ความช่วยเหลือพวกเขา นั่นจึงทำให้ทั่วโลกให้ความสนใจและชื่นชม
“เมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้งสังคมการดาวน์โหลดแบบพิมพ์กายอุปกรณ์ฟรี ที่ชื่อว่า e-NABLE ได้ทราบข่าวของประเทศไทย ท่านตื่นเต้นมากจึงบินมาหาเรา เพราะในปีแรกที่ e-NABLE เปิดให้บริการทั่วโลก สามารถให้บริการได้เพียง 50 ชิ้นเท่านั้น”
(4)
e-NABLE แปลว่า “สามารถทำได้ สามารถสร้างได้” เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดย ศาสตราจารย์จอน โซลล์ มีความยิ่งใหญ่ในระดับโลก
e-NABLE เป็นศูนย์รวมของ “แบบพิมพ์อวัยวะเทียม” ที่ผู้คิดค้น “อีวาน โอเวนซิ่ง” เปิดให้คนทั่วโลกสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์
“ต้องขอยกย่องว่าผู้ที่คิดค้นแบบพิมพ์ท่านมีจิตใจที่เป็นมหาเทพ-มหาพรหมณ์ เพราะแทนที่เขาจะขายลิขสิทธิ์กอบโกยเงินมหาศาล เขากลับเลือกที่จะเปิดเป็น open source ให้เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ ให้คนดาวน์โหลดใช้ได้ฟรีทั่วโลก”
คุณหมอปริยสุทธิ์ และโรงพยาบาลสิรินธร ใช้แบบพิมพ์จากแหล่งข้อมูลนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยเช่นกัน
“โอกาสในการสิ้นสุดความพิการได้เกิดขึ้นในโลกแล้ว” เธอย้ำหนักแน่น
พญ.ปริยสุทธิ์ อธิบายว่า การผลิตกายอุปกรณ์เทียมจากเครื่องพิมพ์สามมิติเป็นเรื่องที่ง่ายมากเช่นเดียวกับการกดส่งสติกเกอร์ในไลน์ นั่นเพราะเทคโนโลยีไม่ได้หายากและแบบพิมพ์ก็มีให้โหลดจากอินเทอร์เน็ต
“พอเราดาวน์โหลดแบบพิมพ์มา แล้วก็กดสั่งเครื่องพิมพ์ให้เดินเครื่องพิมพ์ เครื่องพิมพ์ก็จะค่อยๆ หลอมเส้นพลาสติกเป็นชิ้น เป็นนิ้ว เป็นข้อมือ เป็นส่วนต่างๆ เป็นกลไก เป็นน็อต จากนั้นเราก็นำมาประกอบตามแบบแปลนตามที่เขาระบุไว้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นมือเทียม-แขนเทียม
“มือเทียม-แขนเทียมที่ผลิตขึ้นนี้ สามารถทำงานได้ด้วยหลักการของหุ่นกระบอกโดยที่ไม่ต้องมีวงจรไฟฟ้า ฉะนั้นจึงมีราคาที่ถูกมาก และไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่ นั่นหมายความว่าจาก 7 หมื่นบาท เราสามารถผลิตได้ที่พันกว่าบาทเท่านั้น
“สำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติในต่างประเทศราคาอยู่ที่เครื่องละประมาณ 9 หมื่นบาท แต่ปัจจุบันที่เรามีน้องซึ่งเป็นอาจารย์และจบมาทางวิศวคอมพิวเตอร์ช่วยเหลือ เขาเป็นผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สามมิติเองและขายในราคาถูก ทุกวันนี้ที่โรงพยาบาลใช้อยู่ประมาณเครื่องละ 2.3 หมื่นบาทเท่านั้น ส่วนม้วนพลาสติกราคาม้วนละ 600 บาท โดย 1 ม้วน ทำแขนได้ 3 แขน ทำมือได้ 3 มือ”
ปัจจุบันโรงพยาบาลสิรินธรมีเครื่องพิมพ์สามมิติอยู่เกือบ 10 เครื่อง หากเปิดเดินเครื่องทุกเครื่องพร้อมกันก็จะสามารถพิมพ์ชิ้นส่วนที่แตกต่างกันได้พร้อมๆ กัน และเมื่อสิ้นสุดการพิมพ์ ก็จะนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาสามารถประกอบเป็นมือเทียม-แขนเทียมได้ 1 ชิ้น
ฉะนั้นในแต่ละวัน โรงพยาบาลสิรินธรจะสามารถผลิตมือและแขนเทียมได้อย่างน้อยวันละ 1-2 ชิ้น
(5)
แน่นอนว่า กำลังการผลิตย่อมแปรผันตามกับทรัพยากรที่มี และโครงการ ThaiReach ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “ไทยเอื้อมถึง” มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเพื่อส่งคืนคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้พิการ
คุณหมอปริยสุทธิ์ และสามี ร่วมกับศัลยแพทย์กระดูกและข้อ หัวหน้ากลุ่มงานกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัด และนักกายอุปกรณ์ ร่วมกันจัดตั้งโครงการ ThaiReach ขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะให้ผู้พิการก้าวข้ามความต่างโดยไม่แสวงหาผลกำไร โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ “การสิ้นสุดความพิการของคนไทย”
“ในปีแรกเราแสดงให้ทุกคนเห็นแล้วว่า กายอุปกรณ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติสามารถใช้ได้จริง มี open source ที่สามารถดาวน์โหลดมาได้ฟรี และราคาถูกลงมาก ส่วนปีถัดไปเราวางแผนกันว่าจะต้องกระจายองค์ความรู้นี้ออกไปให้ได้กว้างที่สุด เพื่อที่จะเกิดศูนย์พิมพ์กายวัสดุจากเครื่องพิมพ์สามมิติครอบคลุมทั่วประเทศ
“หากเราสามารถกระจายองค์ความรู้ กระจายห้องแล็บ กระจายห้องปฏิบัติการไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนผู้พิการ ให้ผู้พิการเรียนรู้ที่จะทำได้เอง สามารถช่วยเหลือตัวเองและเพื่อนผู้พิการรายอื่นๆ หรือกระจายไปยัง อบต.ที่เขาจะต้องจ้างผู้พิการมาทำงาน หรือในสถานศึกษา-สถานพยาบาลอื่นๆ
“ต่อจากนี้ถนนทุกสายจะได้ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาลสิรินธรอย่างเดียว แต่ประเทศไทยจะมีศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์กระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งจะยิ่งทำให้เพิ่มการเข้าถึงแก่ผู้พิการได้มากขึ้นกว่าเดิมอีกมากมาย”
คุณหมอปริยสุทธิ์ บอกว่า โครงการจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เลยหากไม่มีการรวมตัวและการสนับสนุนจากกลุ่มจิตอาสาและหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญคือทุนทรัพย์ที่รอการบริจาคและการสนับสนุน
“หากไม่มีความยั่งยืนเรื่องกายอุปกรณ์ในระดับชาติ อีกไม่นานโครงการนี้ก็จะต้องปิดฉากลง” เธอ เชื่อเช่นนั้น จึงอยากขอการสนับสนุนใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. วัสดุและอุปกรณ์ในการผลิต 2. การกระจายความรู้ 3. การเพิ่มสถานีการพิมพ์ให้กระจายทั่วประเทศ 4. ทุนทรัพย์และการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสร้างงานวิจัยให้มีมาตรฐาน
“หมอคิดว่าใน 4 มิตินี้ ทุกคนจะสามารถช่วยสนับสนุนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น คนที่ทำโดรนเอง คนที่ทำกล้องเอง คนที่มีเครื่องพิมพ์อยู่แล้ว ถามว่าสนใจจะลองมาเป็นสถานีการพิมพ์กายวัสดุจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือคนพิการไหม หรือในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในโรงเรียนบางแห่งมีเครื่องพิมพ์อยู่แล้ว แทนที่จะพิมพ์เฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนวิทยาศาสตร์ ลองหันมาพิมพ์กายวัสดุดูไหม เด็กก็สามารถเรียนรู้ด้วยการพิมพ์มือ พิมพ์แขน พิมพ์ชิ้นส่วนต่างๆ ผู้พิการที่อุปกรณ์ชำรุดก็สามารถเดินทางไปยังโรงเรียนใกล้ๆ เพื่อซ่อมแซม
“ทุกวันนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติสามารถพิมพ์ไต พิมพ์หลอดเลือด พิมพ์ดวงตา พิมพ์เลนส์ พิมพ์ใบหู ได้แล้ว หรือในประเทศไทยมีการใช้เครื่องพิมพ์อีกประเภทพิมพ์กระดูกได้แล้ว ฉะนั้นเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีพิมพ์สามมิติ หากได้รับการสนับสนุนก็จะสามารถใช้ในการแพทย์ได้เยอะมาก”
ใช่หรือไม่ว่า ความพิการคือสาเหตุของความยากจนที่ก่อให้เกิดความลำบากในการดำรงชีวิต ผู้พิการบางรายต้องตกเป็นภาระของครอบครัว เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะโอบอุ้มผู้พิการเหล่านี้ให้มีโอกาสดำเนินชีวิตและมีความภาคภูมิใจในความเท่าเทียมกับบุคคลปกติ ในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยเสมอกัน
เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้ หากมองในเชิงคุณค่า เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการในระดับมนุษยชาติ
แต่ทว่า ทุกวันนี้มีกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนภารกิจนี้อยู่เพียง 3 ชีวิต คุณหมอปริยสุทธิ์ สามี และรุ่นน้องคุณหมออีกหนึ่งท่านเท่านั้น
หมายเหตุ : ผู้ที่มีความประสงค์ต้องการสนับสนุนการผลิตมือเทียม-แขนเทียม และผู้ที่ต้องการขอรับการสนับสนุน สามารถติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ค “ThaiReach” หรือ แผนกกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น โทร. 043 267 041-2 ต่อ 106 หรือร่วมบริจาคได้ที่ งานการเงิน โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น ชื่อบัญชี กองทุนพัฒนามือเทียมสามมิติเพื่อฟื้นฟูผู้พิการ โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น เลขที่บัญชี 405-0-81815-9 ธนาคารกรุงไทย
- 962 views