สสจ.นครสวรรค์ชี้ แอปฯอสม.ออนไลน์เป็นเครื่องมือช่วยหนุนการฝากครรภ์คุณภาพ อสม.สามารถเก็บข้อมูลสัญญาณเตือนต่างๆแล้วรายงานเจ้าหน้าที่ได้รวดเร็ว แถมช่วยติดตามเคสที่ฝากครรภ์กับเอกชนหรือหน่วยบริการนอกพื้นที่ ทำให้กระทรวงไม่ขาดข้อมูลในส่วนนี้ไป
นพ.อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์
นพ.อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พูดถึง อสม. 4.0 พอสมควร ซึ่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้ง 6 แห่งที่ได้รับรางวัลในโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ปีที่ 2 นี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าบุคลากรสาธารณสุขสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี
นพ.อดิสรณ์ กล่าวอีกว่า จากการรับฟังสรุปข้อมูลของแอปฯ ดังกล่าว ตนเห็นว่ามีอย่างน้อย 4 เรื่องที่สามารถใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ คือ 1. การแชท ซึ่งมีข้อดีคือข้อมูลไม่หายแบบแอปพลิเคชันไลน์ สามารถค้นหาย้อนหลังได้ 2. มี Spot Map ให้มาร์กจุดต่างๆแล้วประมวลผลเพื่อให้เห็นถึงความถี่ของเหตุการณ์ ซึ่งข้อมูลที่ได้สามารถนำไปวางแผนในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้
3.การนัดหมายต่างๆ เพราะ รพ.สต.แต่ละแห่งมีสมาชิก อสม.ค่อนข้างมาก ถ้าส่งข้อความแจ้งประชุมไปครั้งเดียวแล้วให้ อสม. ตอบรับการประชุมผ่านแอปฯได้ ก็จะง่ายสำหรับผู้เตรียมการประชุม ทั้งเรื่องสถานที่หรืออาหารว่าง 4. การรายงานต่างๆ สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องมี Work after work สามารถเก็บข้อมูลผ่านอุปกรณ์มือถือโดยไม่ต้องกลับมาคีย์ข้อมูลใหม่อีก
ขณะเดียวกัน ในส่วนของจังหวัดนครสวรรค์เอง ตนมีนโยบาย อสม.บั๊ดดี้ กล่าวคือคนท้องทุกคนมี อสม.เป็นพี่เลี้ยง ถ้าสามารถจับอสม.ไปประกบคนท้องได้โดยมีเครื่องมือช่วยในการดูแล สิ่งที่ได้รับก็คือการฝากครรภ์คุณภาพ ซึ่งแอปฯ อสม.ออนไลน์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่อาจช่วยในเรื่องนี้
"อสม.จะเป็นเหมือนเลขานุการคอยดูแลและเตือนในเรื่องต่างๆ เช่น การฝากครรภ์ให้ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ แล้วที่เรามีปัญหาคือถ้าคนท้องไปฝากครรภ์กับเอกชนหรือหน่วยบริการที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เราจะขาดข้อมูลตัวนี้ไป ดังนั้นเครื่องมือตัวนี้ก็น่าจะช่วยได้ ไม่ว่าจะไปฝากท้องที่ไหนก็ใช้มือถือถ่ายหน้าสมุดฝากครรภ์ส่งให้เจ้าหน้าที่ ข้อมูลก็จะไหลเข้ามา กระทรวงสาธารณสุขก็จะไม่ Lost ข้อมูลนี้ไป" นพ.อดิสรณ์ กล่าว
นพ.อดิสรณ์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่จะได้จากเครื่องมือนี้อีกประการ คือการดูแลโภชนาการและสัญญาณเตือนต่างๆ เช่น ตกเลือด เด็กดิ้นน้อยลง หรือสัญญาณเตือนอื่นๆที่ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ ข้อมูลก็จะไหลเข้าระบบได้เร็วขึ้น เกิดการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพ และยังคาดหวังว่าจะส่งผลถึงหลังคลอด ทำให้เด็กที่มีน้ำหนักน้อย พร่องออกซิเจน หรือมีปัญหาอื่นๆลดลง
"นี่คือสิ่งที่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้มา เครื่องมือตัวนี้จะมาเสริมพวกเรา อสม. ที่สามารถทำงานและเก็บข้อมูลบนแอปฯได้เลย" นพ.อดิสรณ์ กล่าว
- 73 views