‘อนุทิน’ ฉีกเสนอบรรจุพยาบาลเป็นเจ้าหน้าที่ สปสช. แก้ปัญหารอบรรจุข้าราชการ 5 พรรคย้ำนโยบายลดภาระงานหมอ-ใช้เทคโนโลยีช่วยลดคิวผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 แพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ และ สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “นโยบายพรรคการเมืองกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพเพื่อผู้ป่วย” โดยเชิญพรรคการเมืองเสนอนโยบายสาธารณสุข และการแก้ปัญหาภาระงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายของพรรคให้ความสำคัญกับการป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพ มากกว่าจะให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ 5 ปีที่ผ่านมา ได้เดินทางไปพบบุคลากรสาธารณสุขทุกสายวิชาชีพและเห็นว่า ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขมีมากเกินไป จึงเสนอให้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อจัดการคิวผู้ป่วย และการจ่ายยา รวมถึงใช้ระบบ Big Data เพื่อลดภาระของแพทย์
ส่วนการแก้ปัญหาการบรรจุพยาบาลถือเป็นนโยบายหลัก ซึ่งหากเป็นรัฐบาล จะเร่งผลักดันการบรรจุข้าราชการ เพราะเห็นปัญหามาตลอดว่า มีพยาบาลที่เข้าไปทำงานไม่เกิน 5 ปี หายออกจากระบบไปเกินครึ่ง
"ปัญหาการบรรจุข้าราชการคือ เมื่อเวลาเสนอเรื่องเข้าไป จะมีหน่วยงานอื่นคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงการคลัง หรือ สำนักงบประมาณ ทำให้ติดขัดตลอด แต่ยืนยันว่า กลุ่มพยาบาลทำงานยากที่สุด และน่าเห็นใจที่สุด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งดูแล ทั้งแรงจูงใจ - ค่าตอบแทนพยาบาล เพราะที่ผ่านมา ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าหมอค่อนข้างมาก
ส่วนการคุ้มครองวิชาชีพแพทย์นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องแยกออกจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ให้เป็นกฎหมายเฉพาะอีกฉบับ เพื่อปกป้องการปฏิบัติงานของบุคลากร โดยการรักษาโรคมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตอยู่แล้ว ให้สันนิษฐานว่าไม่ผิดทางอาญา เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขณะเดียวกัน หากมีคดีแพ่ง ก็ควรผลักภาระไปที่ต้นสังกัดของแพทย์แทน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การบรรจุพยาบาล อาจนำมาอยู่ใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้วให้พยาบาลเป็นเจ้าหน้าที่ หรือเป็นพนักงานของรัฐ แทนการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทั้งนี้ เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรของรัฐอาจไม่มีบำนาญ แต่จำเป็นต้องมีบำเหน็จ รวมถึงเงินจำนวนหนึ่งตอบแทนหลังเกษียณอายุราชการ
หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวอีกว่า นโยบายด้านสาธารณสุขในประเทศไทยนั้น หากจะเพิ่มงบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพมากเท่าไร ก็คงไม่พอ เพราะฉะนั้น ต้องลดการเข้าถึงโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด
รวมถึงจะยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ให้สามารถติดต่อกับแพทย์ - ติดต่อกับชุมชนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระงานของแพทย์ต่อไป และยืนยันหลักการว่า กระทรวงสาธารณสุข ต้องปกป้องแพทย์ว่าแพทย์ทำตามข้อบังคับของกระทรวง เพราะฉะนั้น ควรให้ความคุ้มครองการทำงานทุกกรณี
นายกอบศักดิ์ ฟูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จะผลักดันทั้ง พ.ร.บ.เฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์ และสนับสนุนให้เกิด พ.ร.บ.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาทางการแพทย์ ซึ่ง จะตีความรวมถึงผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาล โดยมีกลไกในการช่วยเหลือทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า การฟ้องร้องจะน้อยลง หากมีการกำหนดภาระงานที่เป็นธรรม และสามารถป้องกัน -ส่งเสริมสุขภาพประชาชนได้ผล
ส่วนการแก้ปัญหาการบรรจุพยาบาล นายกอบศักดิ์กล่าวว่า พยาบาลควรอยู่ในระบบของ ก.พ.ต่อไป เนื่องจากหากให้ออกนอกระบบ อาจส่งผลกระทบต่อสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของการเป็นข้าราชการ โดยพรรคพลังประชารัฐจะผลักดันให้เกิดการเพิ่มตำแหน่งพยาบาลให้มากขึ้น เนื่องจาก ปัจจุบัน ประเทศไทยมีตัวเลขผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยๆ
นพ.เรวัต วิศรุตเวช ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ที่ขึ้นกับระบบของ ก.พ.ก่อนหน้านี้ ควรแยกอัตรากำลังให้ สธ.เป็นผู้จัดการเอง โดยปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อนานกว่า10 ปี และขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่ สธ. ควรมีอำนาจมากขึ้นในการบริหารบุคลากรของตัวเอง
นอกจากนี้ นพ.เรวัต ยังสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายเฉพาะ อย่าง พ.ร.บ.การพิจารณาคดีทางการแพทย์ เพื่อไม่ให้แพทย์ต้องถูกฟ้องร้องอย่างในปัจจุบัน
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแยกบุคลากรออกจากระบบ ก.พ. และเห็นว่าควรแยกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ให้ชัด เนื่องจากแพทย์ไม่ได้มีเจตนาในการทำร้ายชีวิตใคร แต่มีเจตนาในการช่วยเหลือคน
พล.ท.อนุมนตรี วัฒนศิริ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า มีนโยบายในการเพิ่มหน้าด่านในการรักษาคนไข้ เพื่อไม่ให้คนไข้วิ่งเข้าหาโรงพยาบาลทุกคน และเตรียมสร้างเสริม "มินิสปอร์ตคอมเพล็กซ์" ในทุกชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น ลดการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นลง ส่วนการแก้ปัญหาบรรจุพยาบาลนั้น เห็นว่า พยาบาลจำเป็นต้องได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทุกคน โดยอาจต้องลดข้าราชการในส่วนอื่น เพื่อเพิ่มสัดส่วนพยาบาลให้มากขึ้น เพราะถือเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญ
- 17 views