เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ชี้นอกจากปัญหาเรียกเงินเดือนคืน เหตุคำนวณผิด สธ.ยังมีปัญหา เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นถูก สตง.ทักท้วงให้คืนเงินค่าตอบแทน ฉ.11 และ 12 ความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน ฉ.10 ชายแดนใต้ เสนอ 3 แนวทางแก้ไข เช่น ตั้งคณะทำงานค่าตอบแทนใหม่ ยกเลิกค่าตอบแทน ฉ.10 ชายแดนใต้ทันที เพื่อให้บุคลากร 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงานใน สธ.ได้รับความเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ระบุว่าความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังมีปัญหาอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหากรณีการเรียกเงินคืนค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขฉบับที่ 11 และ 12 เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนของค่าตอบแทน ฉบับ 10 ชายแดนใต้ ปัญหาการไม่ได้รับค่าตอบแทน สปพ.ในพื้นที่กันดาร โดยอ้างว่ามีค่าตอบแทนฉบับ 11 แล้ว ปัญหาหลักเกณฑ์ และการจัดสรรค่าตอบแทนฉบับ 11 และ 12 ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาทุกปีไม่เคยเพียงพอ และส่งผลกระทบต่อภาวะวิกฤติโรงพยาบาล ปัญหาค่าจ้างค่าตอบแทนลูกจ้างต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำของระเบียบกระทรวงแรงงาน
จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะทำงานค่าตอบแทนกระทรวงสาธารณสุข ที่มีตัวแทนครบทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน เพื่อพิจารณาปัญหาค่าตอบแทนทุกฉบับ ภายใต้ความเห็นชอบของตัวแทนสหวิชาชีพ และตัวแทนทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุข
2.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบว่ามีจังหวัดใดบ้างที่มีการเรียกเงินคืนค่าตอบแทน จำนวนกี่ราย และพิจารณาการตอบข้อทักท้วงของ สตง.กรณีการเรียกคืนเงินค่าตอบแทนในหลายจังหวัด ให้เป็นแนวทางเดียวกันด้วย
3.แนวทางการแก้ปัญหา ให้มีความเสมอภาค เป็นธรรม มีแรงจูงใจในการทำงาน ของบุคลากร 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงานในกระทรวงสาธารณสุข ควรเป็นดังนี้
3.1 รัฐบาลควรยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับ 10 ชายแดนใต้ทันที เนื่องจากซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม แล้วมาเพิ่มในเงินเสี่ยงภัย(สปพ) ให้ทัดเทียมกันเทียบเท่าครู(ข้าราชการพลเรือนชายแดนใต้ ทุกคนได้รับสปพในอัตรา 2500 บาทต่อเดือน ครูได้รับในอัตรา 3500 บาทต่อเดือน บางหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ ได้รับในอัตรา 5000- 7000 บาทต่อเดือน)
3.2 คณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนทุกวิชาชีพ ทุกสายงานควรทำการยกร่างแก้ไขหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน ฉบับ 11-12 ขึ้นมาใหม่ โดยเร่งด่วน ให้แล้วเสร็จ ภายในปี งบประมาณ 2562 ให้ครอบคลุมทุกสายงาน ทุกวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข
3.3 รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรทำการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนให้สูงขึ้น เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และครอบคลุมทุกวิชาชีพ คือ ค่าพตส. เงินเสี่ยงภัย(สปพ) และค่าเวร
3.4 รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนให้ลูกจ้างทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขได้รับค่าจ้าง ไม่น้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำ ตามระเบียบกระทรวงแรงงาน
รายละเอียดแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังนี้
แถลงการณ์ฉบับที่ 2 การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนในกระทรวงสาธารณสุขในทุกสายงานและทุกวิชาชีพ
จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข มีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน หรือได้รับเงินเดือนเกินอัตราคุณวุฒิจริง ในกลุ่มพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว จำนวนมากกว่า 400 ราย ต่ำสุดไม่กี่พันบาท สูงสุด เกือบ 100,000 บาท เฉลี่ยคนละประมาณ 30,000 บาท ยอดความเสียหาย เกิน 10 ล้านบาท และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจะมีการเจรจากับกระทรวงการคลัง ในการผ่อนชำระคืน ยืดระยะเวลาตั้งแต่ 5- 10 ปี หักเท่ากันทุกเดือน ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบให้ข้าราชการกลุ่มนี้มีการผ่อนต่อเดือนจำนวนน้อยลง
เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ประกอบด้วยสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ สหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข และชมรมว.16 ชายแดนใต้ตอบแทนคุณแผ่นดิน และชมรมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ รพศ รพท. ขอขอบพระคุณที่ผู้บริหารลงมาดูแลบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน และวางแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม และหวังว่าจะได้ข้อสรุป และแจ้งให้เครือข่ายทราบตามแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็น ความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน ในกระทรวงสาธารณสุข ยังมีปัญหาอีกหลายประการ เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรมากกว่า 400,000 คนจาก 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงาน ที่ได้รับความไม่เป็นธรรม จากการจัดสรร การตีความ การเบิกจ่าย เงินเดือน ค่าจ้างค่าตอบแทน ที่ไม่เป็นธรรม เกิดการแบ่งแยกชนชั้น จนขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน ดังนี้
- ปัญหากรณีการเรียกเงินคืนค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำตรวจสอบการเงินของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทักท้วงกรณีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 ในหลายจังหวัด เช่น แพร่ ลำปาง ตรัง ฯลฯ และให้บุคลากรในสายงานทั่วไปตำแหน่งเจ้าพนักงาน (จพ.) หลายสายงาน (จพ.สาธารณสุข จพ.ทันตสาธารณสุข จพ.เภสัชกรรม ฯลฯ) ที่จบปริญญาตรี และมีคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในสายงานวิชาการ คืนเงินค่าตอบแทนที่เบิกจ่ายไปแล้ว ทั้งๆ ที่มีคำสั่งและระเบียบรองรับชัดเจน ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจเป็นอย่างมาก
-ปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนของค่าตอบแทน ฉบับ 10 ชายแดนใต้ ที่ใช้เงินบำรุงเบิกจ่าย (ในอัตรา 1000-10,000 บาทต่อเดือน ) มีความเหลื่อมล้ำคือ มีการจำกัดแค่ 4 วิชาชีพเท่านั้นที่ได้รับ ทั้งๆ ที่ทุกวิชาชีพทุกสายงาน และซ้ำซ้อนกับค่าตอบแทนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ(สปพ)
-ปัญหาการไม่ได้รับค่าตอบแทน สปพ.ในพื้นที่กันดาร โดยอ้างว่ามีค่าตอบแทนฉบับ 11 แล้ว
- ปัญหาหลักเกณฑ์ และการจัดสรรค่าตอบแทนฉบับ 11 และ 12 ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาทุกปีไม่เคยเพียงพอ และส่งผลกระทบต่อภาวะวิกฤติโรงพยาบาล
มีปัญหาหลักเกณฑ์การจัดสรร ค่าตอบแทนฉบับ 11 และ 12 ปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท ถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ครอบคลุมทุกสายงาน ทุกวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข มีการเอื้อบางวิชาชีพมากเกินไป (10,000-60,000 บาท ต่อเดือนมากกว่าเงินเดือน 2-3 เท่า) ในขณะที่วิชาชีพส่วนใหญ่ ได้รับน้อยมาก (1,000-4,500บาท/เดือน น้อยกว่าเงินเดือน 5-20 เท่า) สรุปคือ มี 2 วิชาชีพประมาณ 10% ของบุคลากรกระทรวงได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 80% ละเลยอีกอีก 6 วิชาชีพ 20 สายงานที่ได้รับน้อยมาก หรือไม่ได้รับเลย
- ปัญหาค่าจ้างค่าตอบแทนลูกจ้างต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำของระเบียบกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้พบว่า ลูกจ้างในโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ฯลฯ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับค่าจ้างและเงินเดือนต่ำกว่าวุฒิ เฉลี่ย 4,500-6,000บาท เป็นอัตราที่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำของระเบียบกระทรวงแรงงาน เมื่อเทียบเคียงค่าจ้างของลูกจ้างในส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการในกระทรวงอื่น จะพบความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก
เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปค่าตอบแทนที่เป็นธรรม จึงขอเสนอแนวทาง เพื่อมิให้มีความเหลื่อมล้ำ เกิดความแตกแยก ระหว่างวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะทำงานค่าตอบแทนกระทรวงสาธารณสุข ที่มีตัวแทนครบทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน เพื่อพิจารณาปัญหาค่าตอบแทนทุกฉบับ ภายใต้ความเห็นชอบของตัวแทนสหวิชาชีพ และตัวแทนทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุข
2.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบว่ามีจังหวัดใดบ้างที่มีการเรียกเงินคืนค่าตอบแทน จำนวนกี่ราย และพิจารณาการตอบข้อทักท้วงของ สตง.กรณีการเรียกคืนเงินค่าตอบแทนในหลายจังหวัด ให้เป็นแนวทางเดียวกันด้วย
3.แนวทางการแก้ปัญหา ให้มีความเสมอภาค เป็นธรรม มีแรงจูงใจในการทำงาน ของบุคลากร 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงานในกระทรวงสาธารณสุข ควรเป็นดังนี้
3.1 รัฐบาลควรยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับ 10 ชายแดนใต้ทันที เนื่องจากซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม แล้วมาเพิ่มในเงินเสี่ยงภัย(สปพ) ให้ทัดเทียมกันเทียบเท่าครู(ข้าราชการพลเรือนชายแดนใต้ ทุกคนได้รับสปพในอัตรา 2,500 บาทต่อเดือน ครูได้รับในอัตรา 3,500 บาทต่อเดือน บางหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ ได้รับในอัตรา 5,000- 7,000 บาทต่อเดือน)
3.2 คณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนทุกวิชาชีพ ทุกสายงานควรทำการยกร่างแก้ไขหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน ฉบับ 11-12 ขึ้นมาใหม่ โดยเร่งด่วน ให้แล้วเสร็จ ภายในปี งบประมาณ 2562 ให้ครอบคลุมทุกสายงาน ทุกวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข
3.3 รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรทำการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนให้สูงขึ้น เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และครอบคลุมทุกวิชาชีพ คือ ค่าพตส. เงินเสี่ยงภัย(สปพ) และค่าเวร
3.4 รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนให้ลูกจ้างทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขได้รับค่าจ้าง ไม่น้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำ ตามระเบียบกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ การลดความเหลื่อมล้ำ มิได้หมายถึงการได้อัตราค่าตอบแทนที่เท่ากัน แต่ คือการให้ในอัตราที่ลดหลั่นกันอย่างเหมาะสม อธิบายได้ จูงใจบุคลากรทุกคน เครือข่ายฯ ยังคงหวังให้บุคลากรทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง และทำตามตัวชี้วัดและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขตลอดมา ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทน มีความรัก ความปรองดอง ร่วมกันทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”
เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
13 มีนาคม 2562
- 148 views