กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว ช่วยลดแออัด และลดระยะเวลารอคอยการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่จาก 120 นาทีเหลือเพียง 70 นาที เกิดความคุ้มค่าคุ้มทุน 227,570 ล้านบาทภายใน 10 ปี
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพปฐมภูมิ รุ่นที่ 2 จัดโดยสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิและวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิกหมอครอบครัวทั่วประเทศ สามารถเป็นผู้นำทีมในการจัดบริการคลินิกหมอครอบครัวที่มีความเหมาะสม ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์
นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนนโยบายคลินิกหมอครอบครัว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล และผู้ป่วยต้องใช้เวลานานรอพบแพทย์ รวมทั้งคลินิกหมอครอบครัวจะช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ใกล้บ้าน เหมือนญาติสนิทจากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ได้รับความรู้การดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลารอคอยการรักษา โดยพบว่าสามารถลดระยะเวลารอคอยการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่จาก 120 นาทีเหลือเพียง 70 นาทีที่คลินิกหมอครอบครัว
จากการวิเคราะห์ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับ สำนักงานสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) พบว่า การลงทุนพัฒนาการดำเนินงานตามรูปแบบ 50,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี คลินิกหมอครอบครัวจะมีความคุ้มค่าคุ้มทุนถึง 227,570 ล้านบาท จากการลดการใช้บริการที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผลจากการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดีขึ้น และผลทางอ้อมจากการลดการใช้บริการของผู้ป่วยและเพิ่มคุณภาพบริการที่หน่วยบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ
ในปี 2562 ตั้งเป้าหมายมีคลินิกหมอครอบครัว 1,170 ทีม เน้นการพัฒนาคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน ขณะนี้ ผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนทั้งหมด 995 ทีม ครอบคลุมประชากรรวม 10,234,076 คน เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 252 ทีม และการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพมีผลดีขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นได้ โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องแบบองค์รวม ที่ตัวคน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษาและส่งต่อให้กับหมอผู้เชี่ยวชาญ และติดตามผลร่วมกัน
นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นการแก้ไขเชิงระบบ ทั้งระบบการดูแล การจัดโครงสร้างเครือข่าย ระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์ กลไกการที่เอื้อต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันได้เร่งพัฒนาทีมสหสาขาวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลเวชปฏิบัติ และนักวิชาการสาธารณสุข หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข ให้มีสมรรถนะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีมกับเครือข่าย และประชาชน
- 49 views