รพ.กำแพงเพชร เปิดตัวโครงการ “No Walk-in OPD” หลังจัดทีม “หมอครอบครัว” เต็มพื้นที่ใน รพ.สต. 16 แห่ง มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวครบ รับดูแลผู้ป่วยนอก พร้อมจัดระบบเชื่อมต่อ ส่งต่อผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องที่ รพ. ดูแลประชาชนในพื้นที่เข้าถึงการรักษาเพิ่ม ลดเวลารอคอยและค่าใช้จ่าย ขณะที่แพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อนเพิ่ม พร้อมเผยผลโครงการ 1 เดือน ผู้ป่วยนอกรับบริการลดลง 300 คน
พญ.รจนา ขอนทอง
พญ.รจนา ขอนทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกำแพงเพชร กล่าวถึงการดำเนิน “โครงการ No Walk-in OPD” ของโรงพยาบาลกำแพงเพชร ที่ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นเกิดจากที่โรงพยาบาลได้ร่วมเป็น 1 ใน 16 จังหวัดนำร่อง “คลินิกหมอครอบครัว” ในปี 2559 โดยจัดให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ เพื่อดูแลประชาชนเบื้องต้น สัดส่วนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต่อประชากร 1 :10,000 คน โดยในปี 2561 รพ.กำแพงเพชรสามารถดำเนินการให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำ รพ.สต.เต็มทั้งพื้นที่ทั้ง 16 แห่ง ไม่เพียงทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเบื้องต้นสามารถเข้ารับบริการที่ รพ.สต. หรือคลินิกหมอครอบครัวในพื้นที่ได้ ไม่ต้องมารับบริการที่ รพ.กำแพงเพชร จึงไม่ต้องเสียเวลาทั้งการเดินทางและการรอคอย แต่ยังทำให้ รพ.กำแพงเพชรที่เป็นหน่วยบริการตติยภูมิสามารถส่งผู้ป่วยกลับเพื่อรักษายัง รพ.สต.ในพื้นที่ใกล้บ้านได้ โดยที่ผู้ป่วยได้รับการดูแล
หลังจากที่ รพ.กำแพงเพชรได้เปิดคลินิกหมอครอบครัวเต็มพื้นที่อำเภอเมืองแล้ว ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ พร้อมกับชี้แจงทำความเข้าใจการปรับรูปแบบบริการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มารับบริการ จึงได้เปิดโครงการ “No Walk-in OPD โดยให้ประชาชนอำเภอเมืองทั้งหมดเข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่คลินิกหมอครอบครัวก่อน และหากมีอาการซับซ้อนที่หมอครอบครัววินิจฉัยแล้วว่า ต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ.กำแพงเพชร
“รพ.กำแพงเพชร เป็น รพ.แห่งแรกที่มีการดำเนินคลินิกหมอครอบครัวเต็มพื้นที่ ทำให้สามารถดำเนินโครงการ No Walk-in OPD ได้ โครงการนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอคอย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป เช่น ท้องเสีย ปวดหัว เป็นต้น จากเดิมที่เข้ารับการรักษาที่ รพ.กำแพงเพชร ต้องใช้เวลารอคอยอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่หากเข้ารับบริการที่คลินิกหมอครอบครัวใช้เวลาเพียง 40 นาที ทั้งพบแพทย์และรับยา ขณะเดียวกันยังทำให้แพทย์ที่ รพ.กำแพงเพชร มีเวลาตรวจผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและซับซ้อนได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสในการพัฒนาความเชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน” ผอ.รพ.กำแพงเพชร กล่าว
พญ.รจนา กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ รพ.กำแพงเพชรสามารถดำเนินโครงการ No Walk-in OPD ได้ นอกจากการจัดหาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจนสามารถเปิดคลินิกหมอครอบครัวครบทั้ง รพ.สต. 16 แห่งในพื้นที่ โดยเราเชิญแพทย์ที่เกษียณอายุราชการมาร่วมตรวจผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการแพทย์และเคยอยู่ในพื้นที่มาก่อนแล้ว ทางสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ยังให้การสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะการจัดสรรบุคลากร ทั้งพยาบาลวิชาชีพ นักสาธารณสุข ทันตาภิบาล และเจ้าพนักงานเภสัชกรรม เป็นต้น โดย รพ.กำแพงเพชรให้การสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์และยา รวมถึงการจัดระบบเชื่อมต่อการรักษาและข้อมูลผู้ป่วย ระหว่างคลินิกหมอครอบครัวและ รพ.กำแพงเพชร
“ในการดำเนินโครงการ สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจหลักการการรับการรักษาใกล้บ้านใกล้ใจ พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคลินิกหมอครอบครัว ทำให้การดูแลโดยหมอครอบครัวและที่ รพ.กำแพงเพชรเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการตรวจรักษาและยา โดยยาที่ผู้ป่วยได้รับที่คลินิกหมอครอบครัวและ รพ.กำแพงเพชร เป็นยารายการเดียวกัน มีการตรวจหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าเช่นเดียวกัน และหากมีปัญหายังมีระบบปรึกษาทาง Line พร้อมมีการเชื่อมต่อระบบส่งต่อผู้ป่วย โดยสามารถส่งต่อผู้ป่วยมารับการรักษาต่อเนื่องที่ รพ.ได้ โดยไม่ต้องทำบัตรใหม่ หรือเริ่มขั้นตอนใหม่ เนื่องจากมีระบบอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อข้อมูลถึงกัน ในกรณีที่ต้องรับเป็นผู้ป่วยในก็มีระบบช่องทางด่วน (Fast Track) ที่เข้ารับการรักษาต่อเนื่องได้ ช่วยเพิ่มความสะดวกและทำให้ประชาชนมั่นใจ” ผอ.รพ.กำแพงเพชร กล่าวและว่า ในการลงทุนเพื่อปรับระบบบริการนี้ รพ.ใช้เงินลงทุนหลายสิบล้านบาท แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น ส่งผลดีในระยะยาว
ต่อข้อซักถามว่า จะมีการประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างไร พญ.รจนา กล่าวว่า อันดับแรกคือการใช้บริการผู้ป่วยนอกที่ รพ.กำแพงเพชรต้องลดลง ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้จำนวนผู้ป่วยนอกลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน จากเดิมอยูที่ 1,400 คนต่อวัน เหลือเพียง 1,100 คนต่อวัน เรียกว่าจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการลดลง300 คน ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย โดยกรณีที่เข้ารับบริการที่ รพ.ต้นทุนต่อหน่วยจะอยู่ที่ 900-1,000 บาท แต่ที่ รพ.สต.จะอยู่ที่ 300 บาท ถูกกว่าหลายเท่า ไม่รวมค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น ขณะเดียวกันยังลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและญาติ โดยเฉพาะค่าเดินทาง ซึ่งคลินิกครอบครัวยังมีการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยด้วย
พญ.รจนา กล่าวต่อว่า นอกจากการรักษาซึ่ง รพ.กำแพงเพชรได้จัดแพทย์ลงไปประจำ รพ.สต.แล้ว ยังมีแนวคิดในการต่อยอดงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองและรู้จักวิธีการป้องกัน อาทิ โรคไข้เลือดออกที่พบเป็นประจำต่อเนื่อง ซึ่งหลีกเลี่ยงได้โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรือป้องกันไม่ให้ยุงกัน รวมถึงการหลีกเลี่ยง โรคไข้หวัดโดยการกินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น รวมถึงการฟื้นฟู ทั้งการกินยาอย่างเหมาะสม การกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบครัวและครบวงจร
“นับเป็นโครงการที่นอกจากดูแลผู้ป่วยในพื้นที่อย่างมีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาล เพราะด้วยจำนวนผู้ป่วยนอกที่ลดลง ส่งผลให้แพทย์มีเวลาดูผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่นำไปสู่การเพิ่มความเชี่ยวชาญในการรักษา และในอนาคต รพ.กำแพงเพชรจะพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ทั้งโรคหัวใจ โรคทางสมอง และโรคกระดูก เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่ได้รับการดูแล ไม่ต้องส่งต่อไปไกล” ผอ.รพ.กำแพงเพชร กล่าว
- 524 views