กรมอนามัย ห่วงผู้บริโภคที่ติดใจในรสชาติอาหารที่ใส่ผงชูรส เตือนหากกินในปริมาณมากเกินไปอาจเกิดอาการแพ้ผงชูรส หรือป่วยเป็นโรคภัตตาคารจีนได้ พร้อมย้ำผงชูรสไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อร่างกาย แถมยังมีอันตรายต่อสุขภาพหากกินผงชูรสปลอม
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ผู้บริโภคที่นิยมใส่ผงชูรสในอาหาร โดยเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้น ความจริงแล้วผงชูรสจะละลายไขมันให้ผสมกลมกลืนกับน้ำ ทำให้มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อ และกระตุ้นปุ่มปลายประสาทของลิ้นกับคอทำให้อาหารมีรสหวานอร่อย แต่ถ้ากินมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแพ้ผงชูรสที่เรียกว่า ไชนีสเรสเตอรองซินโดรม หรือรู้จักกันในชื่อของโรคภัตตาคารจีน ทำให้รู้สึกชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ ส่วนผู้ที่แพ้ผงชูรสมาก ๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายในเวลา 2 ชั่วโมง รวมถึงไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ อีก
ทั้งนี้ หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินผงชูรสเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ สำหรับทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนนั้น หากได้กินผงชูรสเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองในเด็กวัยนี้อีกด้วย
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า จากความนิยมกินผงชูรส จึงทำให้ผู้ผลิตบางรายใช้สารปลอมปนในผงชูรสเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสารที่ใช้มีทั้งที่เป็นวัตถุไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ได้แก่ เกลือ น้ำตาล แป้ง ส่วนวัตถุที่เป็นอันตราย เช่น บอแรกซ์ ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในอาหาร เพราะหากร่างกายได้รับในปริมาณสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้ หรือถ้าได้รับในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งจะสะสมในร่างกายก่อให้เกิดอาการพิษแบบเรื้อรังทำให้เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย สับสน ระบบย่อยอาหารถูกรบกวน ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีสารอีกชนิดที่นิยมใส่ปะปนในผงชูรสคือ โซเดียมเมตาฟอสเฟต ซึ่งปกติจะใช้เป็นน้ำยาล้างหม้อน้ำรถยนต์ เมื่อกินเข้าไปจะออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าผงชูรสที่ใช้นั้นปลอดภัยจากสารปลอมปนหรือไม่ สามารถตรวจสอบด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ ให้นำผงชูรสที่สงสัยประมาณครึ่งช้อนชาใส่ลงในช้อนโลหะ เผาจนไหม้ หากเป็นผงชูรสแท้สารนั้นจะไหม้ไฟเป็นถ่านสีดำที่ช้อน แต่ถ้าเป็นผงชูรสที่มีส่วนผสมของบอแรกซ์หรือโซเดียมเมตาฟอตเฟตผสมอยู่ จะพบว่ามีทั้งส่วนที่ไหม้เป็นสีดำและส่วนที่เหลือค้างเป็นสีขาวที่ช้อน
“ที่สำคัญกลุ่มแม่บ้านหรือร้านอาหารที่มีฝีมือในการปรุงอาหารหรือมีเมนูชูสุขภาพประจำร้านและใช้น้ำเคี่ยวกระดูกสัตว์อยู่แล้ว ผงชูรสก็ไม่จำเป็นต้องใช้ในการปรุงประกอบอาหาร แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ผงชูรสจริงๆ ผู้บริโภคควรเพิ่มความพิถีพิถันในการเลือกซื้อ โดยการสังเกตหีบห่อหรือกระป๋องบรรจุ ขอบผนึกต้องไม่มีรอยตำหนิ ฉลากพิมพ์เป็นตัวหนังสือภาษาไทยชัดเจน ไม่เลอะเลือนและต้องระบุชื่ออาหารแสดงคำว่า “ผงชูรส” ตลอดจนมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร หรือ อย. ระบุชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิต เดือนปีที่ผลิต รวมทั้งน้ำหนักสุทธิอย่างชัดเจน”
- 421 views