งานวิจัยปริญญาเอกชี้ ยิ่ง รพ.สต. มีความสัมพันธ์กับท้องถิ่นแนบแน่น ยิ่งมีแนวโน้มอยากถ่ายโอนไปสังกัด อปท. พร้อมเสนอ 3 รูปแบบกระจายอำนาจ ถ้าพื้นที่เข้มแข็ง ความสัมพันธ์ดี ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถถ่ายโอนไปได้เลย แต่หากความสัมพันธ์ยังไม่แนบแน่นควรใช้กองทุนสุขภาพตำบลเป็นตัวเชื่อม
ดร.มโน มณีฉาย สาธารณสุขอำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า จากงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของตน เรื่องการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ของมหาดไทย เพื่อศึกษาความพร้อมของการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสังกัดกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทั้งฝั่ง อปท.และสาธารณสุข เพื่อดูว่าพื้นที่ที่มีบริบทแบบไหนเหมาะสมกับการกระจายอำนาจอย่างไร ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้ร่วมกับ ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้ข้อเสนอแนะและร่วมลงพื้นที่เก็บประเด็นจนได้วิทยานิพนธ์ที่สมบูรณ์ ผลการวิจัยพบว่ามีรูปแบบที่เหมาะสม 3 รูปแบบ คือ 1.ถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่นเลย 2.ต่างคนต่างอยู่แบบในปัจจุบัน แต่ร่วมมือกันทำงาน และ 3.มีกองทุนหรืองบประมาณที่ช่วยเชื่อมระหว่าง อปท.และ รพ.สต. ให้มาทำงานร่วมกัน โดยปัจจัยที่จะพิจารณาว่า รพ.สต.ไหนเหมาะกับรูปแบบไหน จะมีปัจจัยเกี่ยวข้อง 3-4 ตัว คือ ขนาดของพื้นที่ประชากร งบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชน และความสัมพันธ์ส่วนบุคคล
ดร.มโน กล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยชิ้นดังกล่าวคือ 1.ถ้าพื้นที่มีความเข้มแข็ง ความสัมพันธ์ดี ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถถ่ายโอนไปได้เลย เมื่อถ่ายโอนไปแล้ว รพ.สต.ยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.ถ้าความสัมพันธ์ไม่ดี งบประมาณมีน้อย อาจจะต้องใช้รูปแบบของกองทุนเข้ามาเชื่อมในการทำงานร่วมกัน เช่น กองทุนสุขภาพตำบล เป็นต้น และ 3.ถ้างบประมาณน้อย ความสัมพันธ์ไม่ดี ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ก็อาจจะต่างคนต่างอยู่เหมือนเดิม รอวันที่ปัจจัยต่างๆ ครบแล้วค่อยพิจารณาเรื่องการถ่ายโอน
ดร.มโน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้แล้ว ตนยังได้ทำการศึกษาย่อยในหัวข้อเรื่องความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการของบุคลากรองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต) และ รพ.สต. ซึ่งงานชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกให้ไปนำเสนอในต่างประเทศด้วย พบว่า ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในบริบทของสังคมไทย การทำงานในระดับพื้นที่ การมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานได้ ถ้า รพ.สต.กับ อบต.มีความสัมพันธ์ที่ดีมากในทุกระดับ ก็พร้อมที่จะถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่น แต่หากความสัมพันธ์ไม่ดี คำตอบที่ได้จะมีลักษณะว่ายังไม่อยากไป ยังไม่มั่นใจ สรุปคือยิ่งมีความสัมพันธ์ดีก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะออกไปสังกัด อปท. รวมทั้งหลายพื้นที่พบว่าเหตุผลที่อยากถ่ายโอนเพราะรู้สึกว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ให้การดูแลนั่นเอง
"และจากข้อสังเกตในการทำงานในหลายพื้นที่พบว่านายกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้าใจงานสาธารณสุขมากขึ้นแล้ว โดยมองว่างานสาธารณสุขเป็นงานที่ทำให้เกิดผลงานกับฐานเสียงดีกว่าสร้างถนนหนทาง สาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้มงวดมาก ท้องถิ่นก็เลยหันมาเล่นเรื่องนี้ ดูได้จากกองทุนสุขภาพตำบลที่แตกมาเป็นกองทุน Long Term Care แล้วค่อนข้างได้รับการตอบรับดี มีเติบโตอย่างมาก บ่งบอกของมุมมองของผู้บริหารท้องถิ่นว่ารู้สึกโอเคกับงานสาธารณสุข" ดร.มโน กล่าว
อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต.ไปสังกัด อปท. ยังมีข้อจำกัดในการ Refer คนไข้ไปยังระดับสูงกว่า ถ้าจะออกแบบรูปแบบเพื่อถ่ายโอนจริงๆ ต้องคิดรายละเอียดให้ดีว่าถ้า Refer แล้วท้องถิ่นต้องตามไปจ่ายอย่างไรเนื่องจากเป็นคนละหน่วยงานกัน ต่างจากการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งแม้จะเป็นคนละหน่วยงานแต่ยังอยู่ในกระทรวงเดียวกัน สามารถเจรจาตกลงกันได้
"สรุปคือจะถ่ายโอนอย่างไรก็ขึ้นกับบริบทของเขาโดยมี Factor ที่เกี่ยวข้องอยู่ 3-4 ตัวในการพิจารณาว่ารูปแบบที่เหมาะสมเป็นอย่างไรสำหรับความเป็นไปได้ในอนาคต" ดร.มโน กล่าว
- 285 views