กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาศูนย์โรคหัวใจและหน่วยรังสีร่วมรักษา โรงพยาบาลลำปาง รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองและโรคมะเร็ง บริการประชาชน ลำปาง แพร่ น่าน และใกล้เคียง รองรับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดรอคอย เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ผ่าตัดหัวใจเฉลี่ยปีละกว่า 500 ราย และสวนหัวใจและหลอดเลือดเฉลี่ยปีละกว่า 1,500 ราย
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการการแพทย์เชี่ยวชาญในทุกเขตสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดรอคอย ลดอัตราการเสียชีวิต ไม่ต้องเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพมหานครและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในเขตภาคเหนือตอนบนได้พัฒนาโรงพยาบาลลำปางให้เป็นศูนย์โรคหัวใจและหน่วยรังสีรักษา รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองและโรคมะเร็งให้แก่ประชาชนในเขตสุขภาพที่ 1 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แพร่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ผลการผ่าตัดตั้งแต่ มกราคม 2553 สามารถผ่าตัดหัวใจเฉลี่ยปีละกว่า 500 ราย ส่วนการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด เริ่มให้บริการเมื่อเดือนเมษายน 2557 มีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละกว่า 1,500 ราย
ปัจจุบันศูนย์โรคหัวใจและหน่วยรังสีรักษาโรงพยาบาลลำปาง สามารถให้บริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ผ่าตัดลิ้นหัวใจ เส้นเลือดหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง รักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายโดยผ่านสายสวน ผ่าตัดหัวใจพิการแต่กำเนิด ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบครบวงจร อาทิอายุรแพทย์หัวใจ มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือด ศัลยแพทย์หัวใจ ทรวงอกและหลอดเลือด กุมารแพทย์โรคหัวใจ วิสัญญีแพทย์โรคหัวใจ มีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำ เช่น เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เครื่องตรวจสมรรถภาพหัวใจ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดติดตัว 48 ชั่วโมง มีหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยสามัญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดดูแลหลังการผ่าตัด รวมทั้งคลินิกผู้ป่วยนอกที่ติดตามผลการรักษาผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม
ในส่วนศูนย์รังสีรักษาร่วม เปิดให้บริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ให้บริการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง 170 ราย รักษาหลอดเลือดส่วนปลายตีบ 295 ราย รักษามะเร็งตับด้วยการฉีดเคมีบำบัดและสารอุดกั้นผ่านหลอดเลือดแดง 295 ราย การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยการใส่ขดลวด 1 ราย ทั้งนี้ ในอนาคตโรงพยาบาลลำปาง เตรียมพัฒนาการรักษาทางหัวใจ โรคสมองและโรคมะเร็ง ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อาทิ การเป็นศูนย์รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้ไฟฟ้า ศูนย์การปลูกถ่ายหัวใจ รักษามะเร็งตับด้วยการฉีดเคมีบำบัดและสารอุดกั้นผ่านหลอดเลือดแดง ศูนย์การศึกษาแพทย์ประจำบ้านต่อเนื่อง เป็นต้น
- 556 views