คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ (พ.ศ.2561-2570) เตรียมรับทุกความท้าทายในอนาคต ทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่ โดยมุ่งปฏิรูประบบการผลิต การกระจายและบริหารจัดการกำลังคน บูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศดิจิทัลกำลังคนที่เปนเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2561–2570) ซึ่งจะเป็นกรอบทิศทาง พัฒนากลไก นำไปสู่การดำเนินงานเพื่อให้ได้กำลังคนด้านสุขภาพที่ตอบสนองระบบสุขภาพของประเทศ บนวิสัยทัศน์ “ประชาชนสุขภาพดี ภาคีมีส่วนร่วม กำลังคนมีความสุข”
แผนพัฒนากำลังคนฯ ฉบับนี้ ประกอบด้วยแผนงาน 4 ด้าน คือ
1) สร้างและพัฒนากลไกนโยบายกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ
2) ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21
3) ปฏิรูประบบบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
และ 4) พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศดิจิทัลกำลังคนด้านสุขภาพที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
โดยกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อน กำกับ ติดตาม และประเมินแผนดังกล่าว
“ในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ระบบสุขภาพจำเป็นต้องมีกำลังคนที่เพียงพอ มีการกระจายอย่างเท่าเทียม มีสัดส่วนประเภทกำลังคนที่เหมาะสม มีกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถและมีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนด้วย
การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพต้องเติมเต็มทุกส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย ในอนาคตทุกอย่างต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ให้กระจายครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อประชาชนสุขภาพดี กำลังคนมีความสุข” รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 กล่าว
หลักการสำคัญในแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ คือ
1) เชื่อมโยงแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนากำลังคนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่งคั่งของประเทศ
2) เน้นการทำงานร่วมระหว่างทีมวิชาชีพและกลุ่มอื่นๆ
3) เชื่อมโยงกับการออกแบบระบบบริการที่เน้นคุณค่า
4) ผนึกพลังการทำงานระหว่างผู้ผลิต ผู้ใช้ องค์กรวิชาชีพ และภาคประชาสังคม
5) วางระบบติดตามการดำเนินงานของแผนภายใต้ระบบฐานข้อมูลที่ดี 6) เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพระยะ 10 ปีฉบับแรกเกิดขึ้นในปี 2550 และได้ดำเนินการมาจนสิ้นสุดแผนแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการนำเสนอแผนใหม่เพื่อให้เข้ากับบริบทความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต
“ในอนาคตมีความท้าทายเพิ่มขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ระบบบริการสุขภาพของประเทศจำเป็นต้องรักษาสมดุลทั้งในงานส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูและดูแลจนถึงวาระสุดท้าย จำเป็นต้องพัฒนาการดูแลนอกโรงพยาบาล และสร้างความเข้มแข็งให้กับบริการปฐมภูมิด้วย การจัดทำแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มเดินหน้าดำเนินงานทันที และปรับแผนให้เหมาะสมไปตามเวลาและสถานการณ์” นพ.ปิยะสกล กล่าว
สำหรับกระบวนการยกร่างแผนดังกล่าว คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างแผนฯ ที่ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งได้มอบหมายให้คณะทำงานวิชาการจัดกระบวนการยกร่างแผนฯ มาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียรวม 3 ครั้ง รวมถึงการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2562 เพื่อหาฉันทkมติต่อแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพนี้ร่วมกัน และเสนอต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติซึ่งได้ให้ความเห็นชอบและเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพิจารณา จนที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ได้มีมติเห็นชอบและให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
- 104 views