หน่วย 50 (5) หรือหน่วยงานคุ้มครองสิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ จ.นนทบุรี รุดช่วยเหลือน้องไอซ์ ผู้ป่วยเบาหวาน เข้าถึงสิทธิการรักษา ประสานเปลี่ยนหน่วยบริการให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง หลังเคยเข้ารักษาตามสิทธิที่ รพ.ราชวิถี แต่ย้ายตามพ่อจนทำให้หลุดไปจากระบบการรักษา
นางจินตนา กวาวปัญญา ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จ.นนทบุรี กล่าวถึงกรณีข่าวมีเด็กหญิง อายุ 7 ขวบ “น้องไอซ์” ป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาศัยอยู่กับพ่อวัย 28 ปีแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่ป่วยเป็นเบาหวานเช่นกัน นั้นคณะทำงานหน่วย 50 (5) ในพื้นที่บางกรวย ได้ลงไปสอบถามและให้ความช่วยเหลือ เนื่องจาก “น้องไอซ์” เป็นสิทธิบัตรทอง โดยประสานให้ทำเรื่องขอเปลี่ยนหน่วยบริการ จากเดิมสิทธิอยู่ รพ.บางบัวทอง 2 อ.บางบัวทอง เนื่องจากเดินทางไปรับยาไม่สะดวก ให้ขอเปลี่ยนหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ รพ.บางกรวย โดยแนะนำขั้นตอน ซึ่งกรณี น้องไอซ์ มี รพ.สต.มหาสวัสดิ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
นางจินตนา กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่สอบถามข้อมูล ได้ข้อมูลว่า “น้องไอซ์” อาศัยอยู่กับบิดา นายยุรนันท์ อาศัยสุข อายุ 28 ปี ที่พักคนงานอยู่ ม.3 ต.มหาสวัสดิ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ป่วยเป็นเบาหวานตั้งแต่ปี 2559 มีประวัติการรักษาอยู่ที่ รพ.ราชวิถี แต่เนื่องจาก น้องไอซ์ ติดพ่อมาก จึงไม่ไปรักษาต่อที่ รพ.ราชวิถี ตามที่ รพ.ได้ขอตัวเด็กไว้รักษา สำหรับความเป็นอยู่นั้น น้องไอซ์ จะได้ยาที่ต้องฉีดที่เป็นของบิดาที่ใช้สิทธิบัตรทองของตนเองที่ป่วยเป็นเบาหวานเช่นกัน จาก รพ.บางกรวย เนื่องจากสิทธิบิดาอยู่ รพ.บางกรวย สะดวกและเดินทางใกล้ โดยนำยาของตนเองมาฉีดให้น้องไอซ์ หากยาหมดบิดาก็จะไม่ได้ฉีดแต่สามารถทนอาการปวดได้ ส่วน รพ.สต.มหาสวัสดิ์ ได้ดูแลรักษาโดยให้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการฉีดยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีนายอำเภอบางกรวย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยราชการต่างๆ ได้เข้าไปดูแลและช่วยเหลือแล้ว
นางจินตนา กล่าวต่อว่า ในส่วนของหน้าที่ของตนที่เป็นหน่วย 50 (5) นั้นทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนสิทธิบัตรทอง หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สามารถเข้าถึงบริการตามสิทธิที่รัฐบาลจัดให้ ซึ่งสิทธินี้ไม่ใช่สิทธิสงเคราะห์ แต่เขาต้องได้รับการรักษาตามสิทธิ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือ ทำให้เข้าได้รับสิทธิและเข้าถึงสิทธิของเขาเอง ตนและทีมงานจึงเข้าไปในส่วนช่วยประสานดำเนินการให้ได้ย้ายหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อสะดวกแก่ผู้ป่วย ซึ่งในแคมป์คนงานพบว่ามีเลขที่ ที่พักอาศัย โดยผู้ป่วยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านก็สามารถขอเปลี่ยนหน่วยบริการได้ และนำเอกสารประกอบการพักอาศัยอยู่จริง ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ และผู้นำในพื้นที่เซ็นรับรองการพักอาศัยอยู่จริง ซึ่งสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง สามารถขอเปลี่ยนหน่วยบริการได้ปีละถึง 4 ครั้ง ดังนั้นหากย้ายที่พักอาศัยเป็นเวลานานๆ ก็สามารถยื่นขอเปลี่ยนหน่วยบริการได้เลย ที่โรงพยาบาลของรัฐ หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่ใกล้ที่พักอาศัย หรือหากไม่เข้าใจให้โทรสอบถามที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้ 24 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สปสช.-สมาคมเบาหวานพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วย ติดตามรักษาต่อเนื่อง ไม่หลุดจากระบบ
- 76 views