สสส.นำร่องพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง 3 เรือนจำ “อุบลราชธานี-อุดรธานี-ราชบุรี” ต้นแบบ “เรือนจำสุขภาวะ” ปลุกพลังเชิงบวก ส่งเสริมกิจกรรมตามความถนัด-สมัครใจ ปรับให้เรือนจำเอื้อต่อการมีสุขภาวะกายใจ-ดี ต่างจากสังคมภายนอกน้อยที่สุด เผยผู้เข้าร่วมโครงการฯ ลดทำผิดซ้ำ 94%
นางภรณี ภู่ประเสริฐ
เมื่อวันที่ 8 ก.พ.62 ที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานภายใต้โครงการเรือนจำสุขภาวะ : พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง
นางภรณี กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดเรือนจำสุขภาวะในสังคมไทย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยริเริ่มให้มีการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ใน 3 เรือนจำนำร่อง ได้แก่ เรือนจำกลางอุบลราชธานี เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำกลางราชบุรี ตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั่งปัจจุบันได้สนับสนุนให้ดำเนิน โครงการเรือนจำสุขภาวะ : พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง โดยพัฒนาเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ภายใต้องค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่
1. เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง
2. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ
3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ
4. ผู้ต้องขังมีพลังชีวิตคิดบวกและมีกำลังใจ
5. ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร
6. สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ เป็นลูก หรือเป็นสมาชิกในครอบครัว
และ 7. มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม ด้
วยกระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังที่มีการบูรณาการเข้าไปในวิถีการดำรงชีวิตตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงในเรือนจำซึ่งหมายความว่าสภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพ วิถีการดำรงชีวิตความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง ความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ทำให้ชีวิตในเรือนจำแตกต่างจากชีวิตในสังคมทั่วไปให้น้อยที่สุด ซึ่งวิธีการนี้เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการคืนกลับสู่สังคมอีก
ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย หัวหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะ : พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง กล่าวว่า โครงการเรือนจำสุขภาวะ: พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มีการทำงานร่วมกับเรือนจำนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางอุบลราชธานี เรือนจำกลางอุดรธานี และเรือนจำกลางราชบุรี ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ซึ่งผู้ต้องขังสามารถมีประสบการณ์ในทางบวก มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมจะออกไปใช้ชีวิตที่มีคุณภาพเมื่อพ้นโทษ การติดตามผู้เข้าร่วมกิจกรรมโยคะของโครงการเมื่อพ้นโทษออกไปประมาณ 50 คน พบว่ามีผู้กระทำผิดซ้ำ 3 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 6 เท่านั้น
สำหรับกิจกรรมต่างๆ เข้าไปให้ผู้ต้องขังหญิงเข้าร่วมตามความสมัครใจ ในแต่ละเรือนจำมีกิจกรรมแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของสถานที่และความสนใจของผู้ต้องขัง เช่น การออกแบบและทำงานหัตถกรรม (บาติก โครเชต์ ออริกามิ ดอกไม้จากดินน้ำมัน) ศิลปะบำบัด (การใช้ดินสอสี สีน้ำ สีอะคริลิค) การทำเทียนหอม ยาหม่องและน้ามันไพล สวนถาด ปลูกต้นไม้ในขวด หรือกิจกรรมที่มีส่วนช่วยพัฒนาสุขภาพผู้ต้องขังแบบองค์รวมคือการฝึกโยคะ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพทางกายดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังช่วยให้ผู้ฝึกมีสมาธิ มีความอดทนมุ่งมั่น และตระหนักในพลังของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจ มีรายได้จากการจำหน่าย
นอกจากนี้ ทำให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ซึ่งเรือนจำส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการให้บริการ โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับอนามัยช่องปาก หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่สามารถให้บริการอุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ขูดหินปูน และใส่ฟันปลอม ให้ผู้ต้องขังหญิง และพบว่าการใช้หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการในเรือนจาเป็นการให้บริการเชิงรุกที่สามารถช่วยให้ผู้ต้องขังซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟันสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ
- 87 views