สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานถึงความสำเร็จของทีมนักวิจัยสวิสเซอร์แลนด์ที่พัฒนาวัสดุจิ๋วสีเงินหรือไมโครสวิมเมอร์ (microswimmer) ว่ายไปตามหลอดแคบๆ ม้วนตัวและเปลี่ยนรูปร่างไปตามความข้นของของเหลวและรูปทรงของหลอดระหว่างว่ายเข้าสู่เป้าหมาย
หุ่นยนต์จิ๋วโดยฝีมือของทีมนักวิจัยสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งอาศัยแบคทีเรียเป็นต้นแบบนี้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวิธีใหม่สำหรับนำยาเข้าสู่เนื้อเยื่อที่ติดเชื้อโดยผ่านหลอดเลือดและระบบอวัยวะอื่นในร่างกาย
ทีมวิจัยนี้นำโดยเซลมาน ซาการ์จากศูนย์อิโคเลโพลิเทคนิคเฟเดอราลเดอโลซาน (อีพีเอฟแอล) (Ecole Polytechnique Federale de Lausanne : EPFL) และแบรดลีย์ เนลสัน (ETH Zurich) จากอีทีเอชรูริชซึ่งต่างก็เป็นสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า
“ธรรมชาติได้สร้างจุลชีพจำนวนมหาศาลที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างไปตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม หลักการนี้เป็นพื้นฐานการพัฒนาไมโครโรบ็อตของเราครับ” เนลสันกล่าว
“ความท้าทายข้อใหญ่สำหรับเราอยู่ที่การพัฒนาฟิสิกส์สำหรับอธิบายชนิดของการเปลี่ยนแปลงที่เราสนใจ และนำข้อมูลที่ได้มาผสานเข้ากับเทคโนโลยีเส้นใย”
ด้านซาการ์กล่าวว่า หุ่นยนต์จิ๋วนี้มีความยาวเพียงไม่กี่มิลลิเมตรและพัฒนาขึ้นด้วยเทคนิคการพับคล้ายกับศิลปะโอริกามิของญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้หุ่นยนต์สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมรอบตัว นอกจากนี้หุ่นยนต์ผลิตขึ้นจากวัสดุผสมระดับนาโนซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับและกักเก็บน้ำได้ดี ภายในหุ่นยนต์ยังได้บรรจุอนุภาคแม่เหล็กจึงสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยพลังแม่เหล็ก
ทีมวิจัยกำลังพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วให้สามารถว่ายในของเหลวต่างๆ รวมถึงของเหลวที่พบในร่างกายมนุษย์
อีกด้านหนึ่งยังมีนักวิจัยอีกหลายทีมที่ขะมักเขม้นพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วสำหรับใช้ในร่างกายมนุษย์ ในจำนวนนี้รวมถึงทีมวิจัยของซิตียูนิเวอร์ซิตีออฟฮ่องกงซึ่งพัฒนาหุ่นยนต์นุ่มนิ่มที่เคลื่อนไหวคล้ายหนอนดักแด้สำหรับนำยาเข้าสู่ร่างกาย
หุ่นยนต์ของทีมวิจัยฮ่องกงมีขาคล้ายเส้นผมขนาดราว 1 มิลลิเมตรหลายร้อยขา เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาทีมวิจัยยังได้พัฒนาหุ่นยนต์จากซิลิกอนที่ผสมอนุภาคแม่เหล็กซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายยาง และสามารถตัดเป็นรูปทรงและขนาดตามต้องการ
แปลจาก
Swiss team develop 'microswimmer' robot to deliver drugs through the body : www.reuters.com
- 20 views