เลขาธิการ สปสช.รับข้อเสนอแกนนำ “เครือข่ายป้องกันตั้งท้องในวัยรุ่น” ดูแลเยาวชนเข้าถึงถุงยางอนามัย/ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ลดปัญหาท้องไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ระบุ สปสช.มีนโยบายสนับสนุนภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประสาน รพ./รพ.สต.รับฟังปัญหาติดขัดบริการ พร้อมเสนอตัวแทนเยาวชนร่วมนำข้อเสนอในเวทีรับฟังความเห็นบัตรทอง แก้ปัญหาระยะยาว
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับข้อเสนอจากแกนนำเยาวชนเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นทั่วประเทศกว่าร้อยคน เพื่อนำเสนอข้อเสนอขอให้ สปสช.ในฐานะหน่วยงานบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดบริการถุงยางอนามัย และยาคุมฉุกเฉินให้เยาวชนเข้าถึงได้สะดวก โดยมี นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สปสช.ร่วมรับฟัง
นายกิตติธัช ลักษมีวิภาส ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลก ในฐานะตัวแทนเยาวชนฯ กล่าวว่า จากข้อมูลกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่คลอดบุตรเฉลี่ยวันละกว่า 100 ราย โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 10 รายต่อวัน ที่กลายเป็นคุณแม่วัยใส นอกนั้นยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 กำหนดให้วัยรุ่นมีสิทธิได้รับบริการ แต่ในสิทธิประโยชน์ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ช่วงกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นได้ระบุให้เด็กและเยาวชนจะได้รับบริการถุงยางอนามัย/ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน และคำแนะนำการใช้เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ แต่ความเป็นจริงหน่วยบริการจำนวนมากไม่ได้ให้บริการดังกล่าว
“ในวันนี้จึงเรียกร้องเปิดช่องทางให้วัยรุนไทยเข้าถึงบริการถุงยางอนามัยและยาคุมฉุกเฉินได้สะดวก โดยขอให้ สปสช.พิจารณาแนวทางทางดำเนินงาน ให้หน่วยบริการจัดถุงยางและยาคุมฉุกเฉินให้บริการฟรีแก่เยาวชน และขอให้เพิ่มช่องทางในการกระจายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงง่าย อาทิ ร้านขายยา ศูนย์เยาวชน หอพักเด็ก สถานศึกษา เป็นต้น เช่นเดียวกับที่หลายประเด็นดำเนินการแล้ว ซึ่งจากรายงานประเทศไทยมีวัยรุ่นตั้งครรภ์สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแล้ว” นายกิตติธัช กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ชื่นชมกลุ่มเยาวชนที่สนใจปัญหาประเทศและมีข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์ ทั้งนี้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีนโยบายชัดเจนและการสนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น รวมถึงถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในกลุ่มวัยรุ่น เพียงแต่การเข้าถึงอาจยังมีปัญหาอยู่บ้าง และเท่าที่รับฟังข้อเสนอตัวแทนเยาวชนวันนี้ ในส่วนการเข้าถึงถุงยางอนามัยที่หน่วยบริการ สปสช.จะเร่งประสานไปยังโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อรับฟังปัญหาติดขัดในการบริการเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ส่วนระยะยาวเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการที่จำเป็นของกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น ในทุกปี สปสช.มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นที่นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นเป็นหนึ่งกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นในปีนี้ขอให้มีตัวแทนกลุ่มเยาวชนฯ เพื่อเสนอสิทธิประโยชน์สุขภาพในกลุ่มเยาวชน (Adolescent health) ที่นำไปสู่การดำเนินการในระยะยาว
นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในการเข้าถึงบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันเรามีศูนย์หลักประกันสุขภาพประชาชนและศูนย์องค์รวม ซึ่งอาจใช้ช่องทางนี้โดยให้มีตัวแทนเยาวชนและวัยรุ่นร่วมประสานงานในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดการดูแลและเข้าถึงบริการให้กับกลุ่มเยาวชนได้ อาจทำเป็นโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุน อย่างไรก็ตามการดำเนินการเหล่านี้ต้องควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจในเพศวิถีให้กับเยาวชน โดยอาจใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อให้เยาวชนเกิดความตระหนักและเข้าใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างเครือข่ายระดับประเทศได้
“ขอเสนอของกลุ่มเยาวชนในวันนี้ สปสช.ได้ให้ความสำคัญ แต่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้กองทุนฯ สนับสนุนการจัดบริการเฉพาะที่หน่วยบริการ ดังนั้นข้อเสนอการบริการถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนอกหน่วยบริการ อาทิ สถาบันการศึกษา ร้านยา ศูนย์เยาวชน เป็นต้น อาจต้องมีการดำเนินการในภาพรวมร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ต้องทำควบคู่เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดูแลสุขภาพเยาวชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 43 views