สธ. กรมราชทัณฑ์ สปสช.ร่วมลงนามพัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขัง เพิ่มศักยภาพสถานพยาบาลในเรือนจำ ดูแลผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ พร้อมได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อดูแล พร้อมเผยผลความร่วมมือที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังลงทะเบียนสิทธิบัตรทองแล้ว 2.6 แสนราย ขณะที่สถานพยาบาลในเรือนจำผ่านตรวจประเมินหน่วยบริการในระบบบัตรทองครบ 142 แห่งแล้ว
ที่กระทรวงสาธารณสุข - เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ (MOU) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อร่วมพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการและบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ เพื่อดูแลผู้ต้องขังให้ครอบคลุมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลได้มอบหมายให้ 3 หน่วยงาน ร่วมพัฒนารูปแบบการจัดบริการระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการจัดบริการปฐมภูมิในเรือนจำให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ และ สปสช. โดยแต่งตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่เพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำที่เป็นเครือข่ายระดับเขตหรือจังหวัด ดำเนินงานตามบริบทสภาพปัญหาและศักยภาพของพื้นที่
สำหรับการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการใน 4 ด้าน คือ 1.โรงพยาบาลในเขตพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ จำนวน 50 แห่ง 2.จัดห้องพักพิเศษสำหรับผู้ต้องขังที่ถูกส่งต่อมาจากเรือนจำ และสถานที่สำหรับนอนเฝ้าของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โดยจัดช่องทางพิเศษ 28 จังหวัด ห้องพิเศษ 12 จังหวัด และจัดสถานที่นอนเฝ้าฯ 11 จังหวัด 3.ออกระเบียบและแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกรมราชทัณฑ์ และ 4.จัดบุคลากรและจัดบริการในเรือนจำ 55 จังหวัด
นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การลงนามในวันนี้เพื่อสร้างความตระหนักในการพัฒนาเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการดูแลตามสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งการสาธารณสุขในเรือนจำมีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 386,000 คน ในจำนวนนี้ตรวจสอบแล้วมีคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 270,000 คน นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิหลักประกันอื่น อย่างไรก็ตามในจำนวนผู้ต้องขังนี้มีกลุ่มบุคคลต่างด้าวที่เป็นปัญหาอย่างมาก โดยมีจำนวนกว่า 160,000 คน นับเป็นจำนวนไม่น้อยและเป็นปัญหาของเรือนจำ ซึ่งต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพเช่นกัน ทั้งการรักษาและบริการป้องกันแลควบคุมโรค ซึ่งต้องหาแนวทางแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ สปสช.ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ และได้สนับสนุนการพัฒนาสถานพยาบาลในเรือนจำให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยยกระดับการดูแลผู้ต้องขันในเรือนจำ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากความร่วมมือครั้งนี้ สปสช.ได้รับมอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในเรือนจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำ, ลงทะเบียนสิทธิผู้ต้องขังในระบบหลักประกันสุขภาพ, จัดสรรงประมาณและจ่ายชดเชยค่าบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อดูแลผู้ต้องขัง และจัดทำระบบข้อมูลบริการ ระบบการเงินและคุณภาพ และจากความร่วมมือพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขังที่ผ่านมา
ข้อมูล ณ วันที่ 7 มกราคม 2562 ได้ลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับผู้ต้องขังแล้ว 261,672 คน หรือร้อยละ 91.28 จากผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 286,671 คน นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิประกันสังคม 2,383 คน สิทธิข้าราชการและบุคคลในครอบครัว 1,693 คน สิทธิสวัสดิการท้องถิ่นและครอบครัว 269 คน บุคคลต่างด้าว 1,204 คน และบุคคลไม่มีเลข 13 หลักจำนวน 16,456 คน เป็นต้น ส่วนการตรวจประเมินและขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลเรือนจำ สปสช.ได้ดำเนินการครบทั้งหมด 142 แห่งแล้ว โดยเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ 140 แห่ง และหน่วยบริการประจำ 2 แห่ง
“ผลที่เกิดขึ้นจากการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำครั้งนี้ จะทำให้สถานพยาบาลในเรือนจำได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ต้องขังซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็น ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพได้” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
- 126 views