นักวิจัยชี้สูบบุหรี่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่น่ากลัวเท่าพิษจากควันบุหรี่ สูบบุหรี่ 1 มวนจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเทียบเท่า PM2.5 = 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยมีนักวิจัยในสหรัฐอเมริกา Dr. Richard Muller จากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัย California, Berkeley ได้ทำการคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า การสูบบุหรี่ 1 มวนจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเทียบเท่า PM2.5 = 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้สามารถผ่านเข้าสู่ปอด กระแสเลือด และก่อให้เกิดโรคต่างๆมากมายทั้งโรคปอด หอบหืด โรคหัวใจและมะเร็ง เป็นต้น

ปัจจุบันที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ล่าสุดมีรายงานค่า PM2.5 สูงถึง 163 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในกรุงเทพ ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่จะเทียบเท่ากับคนกรุงเทพที่ได้รับพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณดังกล่าวสูบบุหรี่หรือรับควันพิษจากบุหรี่คนละ 7.4 มวนต่อวัน

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ปี 2560 พบว่าคนไทยสูบบุหรี่จำนวน 10.7 ล้านคน โดยเฉลี่ยสูบคนละ 10 มวนต่อวัน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าผู้สูบบุหรี่รวมทั้งคนใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่จะได้รับมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 สูงถึง 220 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านจากคนใกล้ชิดที่สูบบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันพบคนไทย 18 ล้านคน (32.7%) ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และในจำนวนนี้กว่า 13 ล้านคน (73.8%) ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านทุกวัน

อ้างอิง:

Richard A. Muller & Elizabeth A. Muller. Air Pollution and Cigarette Equivalence. Berkeley Earth. http://berkeleyearth.org/air-pollution-and-cigarette-equivalence/.

ข้อมูลฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561 - 7 ม.ค. 2562 จำนวน 52 สถานีโดยเก็บข้อมูลค่าสูงสุดของแต่ละสถานี (กรมควบคุมโรค)