บุหรี่เผาปอดคนไทยเสียชีวิตกว่า 4 หมื่นคน ย้ำ การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันและทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลกแนะนำระบบการเก็บภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวดีกว่าแบบสองอัตราที่อาจจะทำให้นักสูบหันไปใช้บุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าได้
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประเทศไทย ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการแถลงข่าว Tobacco burns your lungs “บุหรี่เผาปอด” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อเชิญชวนให้เครือข่ายนักรณรงค์ทั่วโลกให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้เห็นถึงผลกระทบของบุหรี่ซึ่งส่งผลร้ายต่าง ๆ ต่อสุขภาพปอดของมนุษย์ ตั้งแต่โรคมะเร็งไปจนถึงโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
โดยปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้เสนอมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างเสริมสุขภาพปอดที่ดีคือ การงดการบริโภคยาสูบ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง แต่ความรู้ของประชาชนและสาธารณะ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูบบุหรี่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพปอดของผู้คนอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสองในบางประเทศยังไม่สูงนัก แม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนถึงอันตรายของยาสูบที่มีต่อสุขภาพปอด ความสำคัญของการควบคุมยาสูบ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพปอดที่ดี ยังคงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนและคนยากจนเสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต การสูบบุหรี่ส่งผลทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย และโรคปอด เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกว่าการขึ้นภาษีบุหรี่นั้น เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันและทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลกขอแนะนำว่าระบบการเก็บภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวนั้น ดีกว่าแบบสองอัตรา ซึ่งอาจจะทำให้นักสูบหันไปใช้บุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าได้ เช่น จากที่บุหรี่ที่ขายราคา 60 บาทหรือต่ำกว่า คิดอัตราภาษีร้อยละ 20 ตามมูลค่า และบุหรี่ที่ขายอัตราเกินซองละ 60 บาท อัตราภาษีร้อยละ 40 ควรจะเป็นอัตราเดียวที่ร้อยละ 40 ของบุหรี่ทุกราคา
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ปอดเป็นอวัยวะที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุด ทำให้ปอดได้รับอันตรายมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลปี พ.ศ. 2560 วิเคราะห์โดยภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวม 72,656 คน โดยร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ คือ เป็นมะเร็งปอด 13,727 คน ถุงลมปอดพอง 10,852 คน โรคปอดอักเสบและวัณโรคปอด 10,833 คน รวมเท่ากับ 35,412 คน ซึ่งหากรวมจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 8,278 คน ที่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคปอดแล้ว จะรวมเป็นคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 4 หมื่นคน ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่โดยเร็วที่สุดจะลดโอกาสที่จะเกิดโรคเหล่านี้
ด้าน ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากบุหรี่จะทำคนไทยเสียชีวิตปีละหลายหมื่นคนแล้ว ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งจากค่ารักษาพยาบาลปีละ 77,626 ล้านบาท ความสูญเสียจากการที่ต้องขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยปีละ 11,762 ล้านบาท และความสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 131,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นความสูญเสียรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท (หรือเฉลี่ย 20,565 บาทต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คนต่อปี) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากภาษีบุหรี่แล้วต่างกันถึง 3.2 เท่า ดังนั้นถือว่าไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลควรพิจารณาจัดเก็บภาษีบุหรี่โดยคำนึงถึงความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ด้วย
ทั้งนี้ การแถลงข่าวในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาทิเช่น ศ.คลินิก พญ.มุกดา หวังวีรวงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ประธานที่ปรึกษาชมรม “ลมวิเศษ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยโรคทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบและในนามผู้แทนสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ กรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ มาร่วมให้ข้อมูลเผยตัวเลขสำคัญที่ประเทศไทยเราสูญเสียจากการสูบบุหรี่
- 31 views