อดีตบอร์ด สปสช.ภาคประชาชน ตั้งคำถามถึงโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์รับรองไทย-นานาชาติ ระบุยังมีการจัดบริการที่ไม่มีคุณภาพหลายกรณี ยกตัวอย่างตรวจผู้ติดเชื้อเอชไอวีล่าช้า จ่ายยาขาด ลัดคิว ย้ำคุณภาพต้องเกิดจากระบบไม่ใช่ตัวบุคคล
นายนิมิตร์ เทียนอุดม
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน (อดีต บอร์ด สปสช.) กล่าวผ่านเวทีอภิปราย “มาตรฐานไทย มาตรฐานสากล มาตรฐานเพื่อใคร” ภายในงานสัมมนาเครือข่ายคุ้มครองสิทธิ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า แม้ว่าโรงพยาบาลบางแห่งจะได้รับมาตรฐานระดับนานาชาติอย่าง JCI หรือมาตรฐานของประเทศอย่าง HA แต่ในการปฏิบัติจริงกลับพบว่ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐานและไกด์ไลน์การรักษาโรค
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เดินทางไปเข้ารับบริการทันตกรรม แม้ว่าเขาจะได้คิวเป็นคนที่ 3 ของวัน แต่กลับถูกโรงพยาบาลย้ายคิวการรักษาไปลำดับสุดท้าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีทัศนคติว่าหากให้บริการลำดับต้นๆ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะแพร่เชื้อให้กับผู้ป่วยคนอื่น หรือกรณีการตรวจร่างกายเพื่อให้ทราบผลว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจะทราบผลได้ในวันนั้นเลย แต่หลายโรงพยาบาลกลับนัดมาฟังผลในอีก 3 วันข้างหน้า ส่งผลให้ผู้ที่มาตรวจไม่มาตามนัดและหลุดออกไปจากการรักษาในท้ายที่สุด
“แม้ว่าโรงพยาบาลจะได้รับการรับรองมาตรฐาน แต่ในการให้บริการจริงทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพถ้วนหน้า” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพบปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาที่ไม่ครบตามจำนวน กล่าวคือโดยปกติแล้วจะต้องได้รับยาต้านไวรัสครั้งละไม่ต่ำกว่า 1 เดือน หรือโรงพยาบาลบางแห่งอาจจะให้ถึง 3 เดือน แต่เมื่อระบบการจัดซื้อและจัดส่งยาเกิดปัญหาขึ้น ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายเดียวกันนี้อาจได้รับยาเพียงแค่ 7 วัน คำถามคือหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานทั้งไทยและสากลมีแนวทางปฏิบัติหรือไม่
“เมื่อพูดถึงมาตรฐานแล้ว ก็จะกำหนดกันว่ายาต้องมี ต้องมีมาตรฐาน ต้องไม่หมดอายุ มีกระบวนการคัดเลือกยาเข้าสู่สถานพยาบาล แต่กลับยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการบริหารความเสี่ยงในสถานการณ์เช่นนี้ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น คือโรงพยาบาลควรจะต้องบริหารให้ได้ว่าแม้ยาจะมาส่งช้าเพียงใด ผู้ป่วยก็ควรได้รับยากินต่อเนื่องที่ครบถ้วน” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวอยากเสนอให้นำประเด็นเหล่านี้มาร่วมประเมินในการประเมินเกณฑ์คุณภาพของโรงพยาบาลด้วย เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) กระจายอยู่ตามหน่วยบริการทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของการอภิปรายในวันนี้คือมาตรฐานที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อใคร แน่นอนว่าก็ต้องเพื่อผู้ป่วยที่จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ฉะนั้นในเมื่อวันนี้ผู้ที่ได้รับความเสี่ยงมากที่สุดคือผู้ป่วย จึงควรหาวิธีช่วยกันแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น และควรนำเรื่องนี้เข้ามาอยู่ในเกณฑ์การประเมินมาตรฐานด้วย
“ถ้าเราอยู่กับระบบบริการแล้วแบ่งมาตรฐานออกเป็นสองเรื่อง คือมาตรฐานบริการ และมาตรฐานการรักษา ผมคิดว่าโดยภาพรวมมาตรฐานบริการดีขึ้นมาก ยิ้มแย้มแจ่มใสพูดคุยเป็นกันเอง อาคารสถานที่ดี ส่วนมาตรฐานการรักษานั้น โดยส่วนใหญ่ก็ดีขึ้น อัตราการตายจากโรคต่างๆ ลดลง แต่ก็ยังพบปัญหาอยู่ในอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นเรื่องมาตรฐานการรักษาควรจะอยู่บนพื้นฐานของระบบ คือไม่ว่ารักษากับโรงพยาบาลไหน หมอคนไหน คุณภาพการรักษาต้องเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้คุณภาพกลับตั้งอยู่บนตัวบุคคล คือคุณจะได้เจอกับหมอคนไหน” นายนิมิตร์ กล่าว
- 12 views