ที่ปรึกษา รมว.สธ. ยืนยัน โรงพยาบาลสามารถเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้ แต่ต้องเป็นผู้ป่วยทั่วไปไม่ฉุกเฉิน และเก็บได้ไม่เกิน 110 บาท เหตุ รพ.มีค่าใช้จ่าย-เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเพิ่ม ย้ำแค่จ่ายค่าบริการเพิ่ม ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ยังเหมือนเดิมตามสิทธิ

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ชี้แจงกรณีโรงพยาบาลจัดเก็บค่าบริการผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งเข้ามารับบริการนอกเวลาราชการ โดยยืนยันว่า โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบของ สธ. แต่ต้องไม่เกิน 110 บาท

นพ.กิตติศักดิ์ อธิบายว่า โรงพยาบาลทุกแห่งให้บริการผู้ป่วยบัตรทองในเวลาราชการอย่างเต็มที่ แต่นอกเวลาราชการนั้น หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุก็สามารถเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน (ER) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนผู้ป่วยทั่วไป หรือผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน และสมัครใจเข้ารับบริการในคลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา ทางหน่วยบริการสามารถกำหนดค่าบริการการให้บริการนอกเวลาได้

“โรงพยาบาลสามารถกำหนดค่าบริการได้ตามหลักการเล่มเขียวของ สธ. ซึ่งจะต้องไม่เกิน 110 บาท โดยกรณีนี้ต้องเป็นผู้ป่วยที่สมัครใจมาใช้บริการนอกเวลาเท่านั้น หากไม่สมัครใจก็กลับไปใช้บริการในเวลาได้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากค่าบริการนอกเวลาราชการจำนวนไม่เกิน 110 บาทแล้ว สิทธิอื่นๆ ของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยบัตรทอง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือผู้ป่วยบัตรทองก็ได้รับการรักษาตามสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาอื่นๆ หรือข้าราชการก็ยังเบิกได้เช่นเดิม

“ผู้ป่วยเพียงแต่จ่ายค่าบริการนอกเวลาเพิ่มแค่นั้น ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ยังเหมือนเดิม” นพ.กิตติศักดิ์ ระบุ

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หากผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินมารับบริการนอกเหนือเวลาราชการ และเกินเวลาที่คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการเปิด ผู้ป่วยก็ยังสามารถเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินได้ แต่การเข้ารับบริการดังกล่าวอาจกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยที่ฉุกเฉินอยู่ ดังนั้นโรงพยาบาลจึงได้จัดห้องแยกไว้ต่างหาก ซึ่งจุดนี้โรงพยาบาลก็สามารถเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้ แต่ต้องไม่เกิน 110 บาทด้วยเช่นกัน

“การให้บริการนอกเวลาราชการ ทั้งคลินิกนอกเวลา คลินิกพิเศษ ห้องแยกจากห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มทั้งในแง่ของทรัพยากรและบุคลากร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเก็บจากผู้รับบริการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ขอย้ำคือต้องเป็นผู้ป่วยที่สมัครใจมาใช้บริการนอกเวลาราชการเท่านั้น ถ้าไม่สมัครใจก็กลับไปใช้บริการในเวลาได้ ซึ่งโรงพยาบาลก็ให้บริการอย่างเต็มที่แน่นอน” นพ.กิตติศักดิ์ ยืนยัน

ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า หลักการนี้แตกต่างกับสิ่งที่หนึ่งในกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการฯ ระบุว่า โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บค่าบริการใดๆ จากผู้ป่วยบัตรทองได้เลย

“ถ้าไม่สามารถเก็บเงินได้เลย จะมาเมื่อไรก็มาได้ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนไข้มาโรงพยาบาลเมื่อใดก็ได้ แล้วเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเวลาราชการ ซึ่งควรจะได้พักผ่อนในช่วงนอกเวลา ก็จะต้องรับภาระหนัก และไปกินเวลาของคนไข้ฉุกเฉินด้วย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ อธิบายต่อไปว่า กรณีที่อ้างว่าบัตรทองให้สิทธิประชาชนเข้ารับบริการตามความจำเป็นได้นั้น ความจำเป็นหมายถึงผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยอุบัติเหตุ ไม่ใช่ผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้แยกค่าบริการออกมาแล้ว แต่ไม่ได้เน้นว่าในเวลาหรือนอกเวลา แต่ที่ผ่านมาเคยมีมติของบอร์ด สปสช.ว่าการให้บริการของหน่วยบริการต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง นั่นหมายถึง 8.30-16.30 น. รวม 5 วัน ก็จะ 40 ชั่วโมง แต่ในกรณีนี้เป็นการให้บริการนอกเวลา

“ท่านประธานคณะกรรมการควบคุมฯ ก็ได้ชี้แจงแล้วว่า การเข้ารับบริการของผู้ป่วยบัตรทองนอกเวลาที่คลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษนอกเวลา จะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มตามที่หน่วยบริการกำหนด” นพ.กิตติศักดิ์ ยืนยัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แจง กรณี รพ.แยกรักษาไม่ฉุกเฉินนอกเวลา ถือเป็นทางเลือกให้ ปชช. แต่สิทธิบัตรทองยังอยู่

แนะผู้ป่วย ‘บัตรทอง’ ร้องเรียนขอคืนเงิน หากถูก รพ.เก็บค่ารักษานอกเวลาราชการ

สรุปสิทธิบัตรทองเข้า ER นอกเวลาไม่เสียเงิน แต่ต้องคิดว่าฉุกเฉินจริง และให้คิวอาการหนักก่อน