ที่ปรึกษา รมว.สธ. ระบุ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอร่างประกาศให้รัฐมนตรี-ปลัดฯ ลงนาม ไฟเขียวให้โรงพยาบาลรัฐเปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางได้ ชี้ win-win ทั้งคนไข้-รพ. คาด 1-2 สัปดาห์ เดินหน้าได้

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสังกัด สธ.เปิดให้บริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางโดยไม่มีระเบียบรองรับ และถูกตั้งข้อสังเกตว่าสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากคลินิกเหล่านั้นมีการเก็บค่าบริการจากผู้ป่วย แต่ล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตหรือบอร์ด สปสช. มีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย สามารถดำเนินการได้

“เมื่อได้ข้อยุติที่ชัดเจนแล้ว ขณะนี้จึงได้เสนอร่างประกาศให้ รมว.สาธารณสุข ลงนาม และเสนอร่างประกาศให้ปลัด สธ.ลงนามในเรื่องการเก็บเงินขาเข้าและการจ่ายค่าตอบแทนขาออก ซึ่งร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะลงนามได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลที่ต้องการจะเปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางขึ้น จำเป็นต้องกลับไปทำประชาพิจารณ์กันภายในโรงพยาบาล ทั้งจากแพทย์ เจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชน ว่ามีความต้องการและมีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งหากทุกฝ่ายเห็นชอบก็สามารถเปิดได้ทันที แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน เก็บเงิน และจ่ายค่าตอบแทนตามที่กระทรวงกำหนดเท่านั้น

“ตรงนี้ก็จะเป็น win-win ของทั้ง 2 ฝ่าย คือผู้ป่วยก็สามารถเลือกที่จะมาใช้บริการได้ หากเขาว่างในช่วงเย็นก็สามารถมาพบแพทย์เฉพาะทางได้ แต่เขาก็ต้องจ่ายค่าบริการ ส่วนทางโรงพยาบาลก็จะมีเงินไปพัฒนาโรงพยาบาลในภาพรวมได้ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่มีข้อกังวลใดๆ และเท่าที่พูดคุยกับหลายโรงพยาบาลก็มีความพร้อมและเห็นด้วย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า หากเปิดบริการจริง คนไข้ส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลที่มารับบริการในช่วงกลางวัน ก็สามารถมารับบริการในช่วงเย็นได้ ตรงนี้ก็เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมในโรงพยาบาลให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยลดความแออัดและสร้างประโยชน์สูงสุด

“การดำเนินการนี้เป็นไปเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนที่เจ็บป่วยและสามารถจ่ายค่าบริการได้ ไม่ต้องมาพบแพทย์เฉพาะทางในเวลาปกติ ซึ่งแออัดและต้องรอพบแพทย์เป็นเวลานาน นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโรงพยาบาลที่เปิดบริการก็จะสามารถมีเงินบำรุงเพิ่มเพื่อนำไปพัฒนาบริการให้ดีขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยรวม” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากโรงพยาบาลสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณหน้า คือภายในเดือนตุลาคม 2561 นี้ สถานการณ์ต่างๆ ของโรงพยาบาลก็จะดีขึ้น โดยขณะนี้ทาง สธ.ได้ส่งวิธีการดำเนินการไปยังโรงพยาบาลในสังกัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าทางโรงพยาบาลสามารถศึกษาไปล่วงหน้าได้เลย เมื่อ รมว.สธ.และ ปลัด สธ.ลงนามในระเบียบและประกาศใช้ ทางโรงพยาบาลก็สามารถเปิดให้บริการได้โดยทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนุน รพ.สังกัด สธ.ทำคลินิกนอกเวลา แก้ปัญหาแออัด ดึงหมอดูแลผู้ป่วยในระบบ ไม่ทำคลินิก