สมาคมพยาบาลฯ จัดทำข้อเสนอ “มาตรการเยียวยาพยาบาลเสียชีวิต บาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่” เปิดพยาบาลทั่วประเทศลงชื่อร่วมหนุน ล่าสุด 4 หมื่นชื่อแล้ว ตั้งเป้าแสนรายชื่อ หลังปีใหม่เตรียมยื่น “รมว.สาธารณสุข” เร่งสร้างขวัญกำลังใจพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ แก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน พร้อมแจงอัตราเงินเยียวยา ยึดหลักเกณฑ์ทหารตำรวจ เสียชีวิตเยียวยา 5 ล้านบาท พิการสูญเสียอวัยวะสำคัญ 4 ล้านบาท
รศ.สุปาณี เสนาดิสัย นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยได้จัดทำข้อเสนอ “มาตรการเยียวยาพยาบาลที่เสียชีวิต หรือบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่” โดยเปิดให้พยาบาลทั่วประเทศร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุน (ดู ทีนี่) โดยล่าสุดจากที่ได้เปิดให้ลงรายชื่อเพียง 2-3 วัน ได้มีพยาบาลที่ร่วมลงชื่อแล้วประมาณ 40,000 คน ซึ่งตามกำหนดการได้ปิดการลงรายชื่อในวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อทำการสรุปจำนวน และจะเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงหลังปีใหม่นี้ แต่เนื่องจากจำนวนพยาบาลมีประมาณ 200,000 คน จึงอยากได้จำนวนพยาบาลที่ร่วมสนับสนุนมากกว่านี้ หรือประมาณ 1 แสนคน จึงอาจยื่นเวลาออกไปลงรวบรวมรายชื่อออกไป
ทั้งนี้การที่สมาคมพยาบาลฯ ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อให้มีมาตรการการดูแลพยาบาลที่เหมาะสม และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในรถพยาบาล ทั้งการช่วยเหลือและนำส่งผู้ป่วย ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ทั้งจากสภาพรถพยาบาลที่เก่า หรือคนขับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมามีพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิต หรือพิการไปตลอดชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่มาตรการเยียวยากลับไม่มี มีเพียงการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสียชีวิตได้รับ 400,000 บาทเท่านั้น ซึ่งมองว่าไม่เพียงพอ เพราะบางคนเสาหลักครอบครัว
รศ.สุปาณี กล่าวว่า ข้อเสนอมาตรการเยียวยาพยาบาลที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บในขณะปฏิบัติหน้าที่นี้ ที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากองค์กรวิชาชีพพยาบาลมาโดยตลอด โดยสภาการพยาบาลเองเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วก็ได้เคยมีเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นสมาคมพยาบาลฯ ในฐานะองค์กรเอกชนจึงได้นำเสนออีกครั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้มีการดูแลจากภาครัฐเช่นเดียวกับทหารและตำรวจ เป็นต้น โดยพยาบาลถือเป็นด่านหน้าในการดูแลผู้ป่วย นอกจากมีความเสี่ยงในเรื่องการติดเชื้อแล้ว จากการเข้าออกเวรยังมีความไม่ปลอดภัยต่อการถูกปล้น จี้ เป็นต้น ส่วนจะถึงขั้นออกเป็นพระราชบัญญัติรองรับหรือไม่นั้น คงต้องรอดูทางกระทรวงสาธารณสุขก่อน ซึ่งหากไม่มีการสร้างขวัญกำลังใจเชื่อว่าปัญหาพยาบาลขาดแคลนก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป
“สมาคมพยาบาลฯ ทำในเรื่องนี้ เพราะอยากช่วยเร่งอีกทาง เพื่อให้หันกลับมาดูพวกเราด้วย บางคนต้องเสียชีวิต บางคนต้องพิการไปตลอดชีวิต และบางคนยังนอนเป็นผักต้องให้ญาติดูแล เป็นการดูแลขวัญกำลังใจให้กับพยาบาล เพราะไม่เช่นนั้นเราก็มักบอกว่าพยาบาลขาดแคลน จะไม่ขาดแคลนได้อย่างไร ทำงานก็หนัก ซ้ำยังไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลอีก” นายกสมาคมพยาบาลฯ กล่าว
รศ.สุปาณี กล่าวว่า ส่วนหลักเกณฑ์การเยียวยาที่จัดทำขึ้นนี้ เป็นการดูจากหลักเกณฑ์การเยียวยาทั่วไป รวมถึงหลักเกณฑ์การเยียวยาทหารและตำรวจ โดยมีการเยียวยาความเสียหายที่เป็นเงินโดยเป็นไปตามภาวะความหนักเบาจากอันตรายที่ได้รับ และการเยียวยามาตรการอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเงิน พร้อมกันนี้ยังมีข้อเสนอมาตรการป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การใช้รถพยาบาลที่ได้มาตรฐานเท่านั้น การตรวจสอบและดูและความพร้อมของรถพยาบาลก่อนออกให้บริการ รวมถึงคนขับ เป็นต้น
ทั้งนี้ข้อเสนอมาตรการเยียวยาพยาบาลที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนเงินชดเชยเยียวยาเบื้องต้น โดยกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร อัตราเยียวยาไม่ต่ำกว่า5 ล้านบาท/ราย กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ในกรณีสูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราเยียวยา 4 ล้านบาท/ราย สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราเยียวยา 2 ล้านบาท/ราย และส่วนการเยียวยากรณีบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ หากได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราเยียวยา 1.25 ล้านบาท/ราย ไม่สาหัส อัตราเยียวยา 7.5 แสนบาท/ราย เป็นต้น พร้อมกับมีการเยียวยาอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ การฟื้นฟูสมรรถภาพ เงินชดเชยการบาดเจ็บต่อวัน เงินช่วยเหลือผู้พิการรายเดือน เงินยังชีพบุตรให้กับผู้เสียชีวิต เงินทุนการศึกษาบุตร และเงินอุปถัมภ์สำหรับพ่อแม่ผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ให้มีการปูนบำเหน็จความดีความชอบในราชการกรณีเสียชีวิตหรือพิการทุพพลภาพที่ต้องออกจากราชการ เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อดำเนินการได้ตามขั้นตอนตามลิงค์ของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย (ดู ที่นี่)
- 24 views