ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครอบครัวตำรวจเหยื่อเมาแล้วขับ หนุน สธ.ตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุทุกราย ระบุที่ผ่านมาเกิดปัญหาหลายรายหัวหมอไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และใช้ช่องว่างของกฎหมายที่จะบ่ายเบี่ยง เป็นช่องทางวิ่งเต้นเพราะโทษความผิดจะสูงกว่า

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นางสาวภาวินี ซุ่นสั้น ลูกสาวดาบตำรวจอนันต์ ซุ่นสั้น เหยื่อเมาแล้วขับเสียชีวิต 5 รายที่จังหวัดตรัง เมื่อปี 2560 พร้อมด้วยนางรัชฐิรัชฎ์ ซุ่นสั้น ภรรยาผู้เสียชีวิต และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เข้าพบ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนมาตรการตรวจเลือดวัดปริมาณแอลกอฮอล์ กรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกทุกราย ของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทังนี้เครือข่ายได้ชวนเชิญชวนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขสงบนิ่งไว้อาลัยกับความสูญเสีย จากอุบัติเหตุจราจรทางบก และเครือข่ายได้จำลองการแต่งกายเป็นผู้บาดเจ็บ จำลองสถานการณ์อุบัติเหตุด้วย

นางสาวภาวินี กล่าวว่า ตนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ สูญเสียพ่อเพราะถูกคนเมาขับรถชนขณะปฏิบัติหน้าที่ ในคราวนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 5 ราย เป็นข่าวใหญ่ ทุกวันนี้ยังทำใจยอมรับไม่ได้ ส่วนที่ทำได้คือ ช่วยรณรงค์ให้คนตระหนักถึงปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากไม่อยากเห็นความสูญเสียเกิดขึ้นซ้ำซาก ยิ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้ถึง และวันนี้มาเพื่ออยากมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงสนับสนุนมาตรการตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์กับผู้ประสบอุบัติเหตุจราจรทางถนนทุกราย เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาหลายรายหัวหมอไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และใช้ช่องว่างของกฎหมายที่จะบ่ายเบี่ยง เป็นช่องทางวิ่งเต้นเพราะโทษความผิดจะสูงกว่า โดยหากทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโทษจำคุกสูงสุด10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลมีสิทธิ์พักหรือถอนใบอนุญาตขับรถได้

“ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เป็นช่วงเดินทางและมักมีอุบัติจากการเมาแล้วขับจำนวนมาก อยากฝากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนระมัดระวัง และปฏิบัติตามกฎจราจร ดื่มไม่ขับ และอยากให้นโยบายตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนเป็นจริงในทางปฏิบัติทุกราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งหนังสือมาที่สถานพยาบาลเพื่อเจาะเลือดส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ หากพบว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเมาสุรา ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือว่ามีความก้าวหน้าในทางนโยบาย ส่งผลต่อการป้องปรามผู้ขับขี่และลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วยถ่วงดุลการทำงานระหว่างสาธารณสุขและตำรวจ ทั้งนี้ตนอยากฝากขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข หมอ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองต่างๆ ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการรับมืออุบัติเหตุจราจรช่วงปีใหม่นี้ด้วย” นางสาวภาวินี ระบุ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง