ทีมกรรมการทันตแพทยสภาลงพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เยี่ยมชมรูปแบบการจัดบริการทันตกรรมแก่ประชากรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ภูเขาสูงชัน/ทุรกันดาร ด้านเสียงสะท้อนจากบุคลากรในพื้นที่ชี้ "ทันตาภิบาล" คือหัวใจสำคัญในการให้บริการในพื้นที่ห่างไกล แต่ยังไม่มีตำแหน่งบรรจุ ฝากการบ้านนายกทันตแพทยสภาช่วยประสาน สธ. หาตำแหน่งบรรจุให้ด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ร่วมกับ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำทีมงานคณะกรรมการทันตแพทยสภา และทีมงาน สปสช. ลงพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการดูแลสุขภาพช่องปากของประชากรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ทุรกันดาร/พื้นที่ภูเขาสูงชัน ซึ่งยากต่อการเดินทางและการเข้าถึงบริการ รวมทั้งลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)บ้านคำหวัน ซึ่งถ่ายโอนไปสังกัดกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น แต่ยังสามารถจัดบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีจุดเด่นของทันตกรรมอยู่ที่การมีทันตาภิบาลเป็นชาวปกาเกอะญอคอยให้บริการแก่พี่น้องชนเผ่าในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างดี
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า แม้ประชาชนในพื้นที่ อ.แม่ระมาดจะมีสิทธิบัตรทอง แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นป่าเขาจึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพรวมถึงบริการทันตกรรม แต่เนื่องจากความมุ่งมั่นของฝ่ายทันตกรรมและการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงพยาบาลแม่ระมาด ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการบริการให้ประชาชนในพื้นที่ภูเขาสูงและห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้นโดยการจัดส่งทันตาภิบาลของโรงพยาบาลไปปฏิบัติงานประจำใน รพ.สต. ที่เดินทางเข้าถึงได้ยาก ทำให้เกิดการให้บริการอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ รพ.สต.บ้านคำหวัน มีทันตาภิบาลชาวปกาเกอะญอคอยดูแลพี่น้องชนเผ่าเดียวกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงความเชื่อและขนบธรรมเนียม สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาถิ่นสร้างความเข้าใจและไว้วางใจกัน ชาวบ้านที่ได้รับบริการก็ไม่ต้องเดินทางไกลมาถึงโรงพยาบาล อีกทั้งช่วยลดความแออัดของคนไข้ที่แผนกทันตกรรมของโรงพยาบาลได้อีกด้วย ถือเป็นอีกรูปแบบที่น่าสนใจในการจัดบริการทันตกรรมเพื่อดูแลประชาชน
นอกจากนี้ ทีมงานคณะกรรมการทันตแพทยสภายังได้พบปะหารือรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นต่างๆ จากทันตแพทย์และบุคลากรด้านทันตกรรมในพื้นที่ อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด โดย ทพ.ไพศาล กล่าวว่าประเด็นที่สะท้อนจากทันตแพทย์ในพื้นที่มี 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1.ตำแหน่งที่จะบรรจุทันตาภิบาล เนื่องจากทันตาภิบาลเป็นกลไกสำคัญในการให้บริการในพื้นที่ทุรกันดารแต่ไม่มีตำแหน่งบรรจุ ไม่มีความก้าวหน้า ประเด็นนี้คงต้องเข้าไปดูว่าทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะช่วยหาตำแหน่งบรรจุเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างไร
2.ผู้ช่วยทันตแพทย์ ใน รพ.สต.ทั่วไปไม่มีผู้ช่วยให้ ทำให้การทำงานของทันตาภิบาลลำบากพอสมควร หากมีผู้ช่วยฯจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบริการได้มากขึ้น ประเด็นนี้คิดว่า สธ.น่าจะต้องช่วยสนับสนุนตำแหน่งหรือหาเงินมาจ้างผู้ช่วยฯให้
3.ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในส่วนของทันตแพทย์ แม้แต่ในระดับเขตก็ไม่มี จุดนี้อาจไม่ได้เป็นจุดเน้นในการให้การสนับสนุนของ สธ.ในด้านทันตกรรม ซึ่งทางทันตแพทย์ในพื้นที่อยากให้มีตัวชี้วัดชัดเจนขึ้น และการสนับสนุนงบประมาณต่างๆโดยเฉพาะการทำฟันปลอม เพราะการทำฟันปลอมจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน จุดนี้หาก สปสช.สนับสนุนงบประมาณเพิ่มได้ก็จะดีมากเพื่อไม่ให้เป็นภาระโรงพยาบาล
"ภาพรวมการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ผลค่อนข้างดี ได้เห็นสภาพที่แท้จริง อย่างโรงพยาบาลแม่สอดเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการปรับปรุงเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ แผนกทันตกรรมก็มีการปรับปรุงอย่างมาก เราไปดูพื้นที่แล้วดีมาก คิดว่าประชาชนจะได้รับบริการที่ดี มีการเตรียมพื้นที่ติดตั้งยูนิตฟันตั้ง 20 ยูนิต ส่วนที่ รพ.สต.บ้านคำหวัน ก็เห็นรูปแบบการให้บริการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ให้บริการในพื้นที่ภูเขา เป็นพื้นที่ทุรกันดาร ประชาชนลงมารับบริการบนที่ราบยาก การให้บริการของเจ้าหน้าที่ก็ให้บริการด้วยใจจริงๆ โดยเฉพาะงานด้านทันตสาธารณสุขก็มีการให้บริการ โดย รพ.สต. เป็นโรงพยาบาลที่ย้ายจาก สธ. มาสังกัด อบต. ซึ่งแต่เดิมเรามองว่าน่าจะมีปัญหาในการให้บริการ แต่ปรากฎว่าให้บริการได้อย่างดีมาก อบต.ให้การสนับสนุน โรงพยาบาลก็ยังสนับสนุน ถือเป็นรูปแบบที่ดี หรือที่โรงพยาบาลแม่ระมาดก็เป็นอีกรูปแบบที่ให้บริการค่อนข้างดี หมอฟันมีความสุข ให้บริการได้อย่างครอบคลุม การจัดบริการในเขตทุรกันดารก็สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างดี" ทพ.ไพศาล กล่าว
- 217 views