เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวาง นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายในหลายๆด้านแล้ว เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานให้ดีมากขึ้น
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาเมือง (รพ.สต.บ้านนาเมือง) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องนี้กับพี่น้อง รพ.สต. ในพื้นที่อื่นๆ โดยหวังว่าจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากระบวนการทำงานให้ระบบบริการปฐมภูมิเข้มแข็งมากขึ้น
ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงบริบทของ รพ.สต.บ้านนาเมือง ก่อนว่าเป็น รพ.สต.ขนาด L ใน ต.นาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ตำบลนี้เป็นตำบลที่มีพื้นที่มากที่สุดใน อ.เสลภูมิ มีหมู่บ้านทั้งหมด 20 หมู่บ้าน มี รพ.สต. 2 แห่งดูแลประชากรทั้งหมด 10,674 คน โดย รพ.สต.บ้านนาเมือง รับผิดชอบทั้งหมด 16 หมู่บ้าน 1,843 หลังคาเรือน ประชากร 8,457 คน กล่าวได้ว่ามีพื้นที่รับผิดชอบค่อนข้างกว้างมาก ขณะที่ในส่วนของกำลังเจ้าหน้าที่ รพ.สต.มีเพียง 7 คน เฉลี่ยแล้ว 1 คนต้องดูแล 2-3 หมู่บ้าน โดยทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใน 16 หมู่บ้านอีก 235 คน เฉลี่ยแล้ว อสม. 1 คนจะดูแลรับผิดชอบ 8-10 หลังคาเรือน
พื้นที่รับผิดชอบทั้ง 16 หมู่บ้านนี้ค่อนข้างอยู่ห่างไกลกันพอสมควร การเดินทาง การติดต่อสื่อสารต่างๆค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร บางครั้งมีข่าวเร่งด่วนต้องลงไปแจกหนังสือ ต้องใช้เวลาทั้งวันกว่าจะแจกครบ 16 หมู่บ้าน แวะหมู่บ้านหนึ่งก็จะหยุดคุยกัน 10-20 นาที กว่าจะไปครบทุกหมู่บ้านก็ค่ำพอดี
ตัวผมเองในฐานะ ผอ.รพ.สต. จึงพยายามหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยในการทำงาน โดยในปี 2558 ทราบมาว่าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส พัฒนาแอปพลิเคชันตัวหนึ่งที่เรียกว่า “อสม.ออนไลน์” และเห็นตัวอย่างจาก รพ.สต.หลักร้อย อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเริ่มนำแอปฯนี้มาใช้ก่อน จึงเกิดความคิดว่าพื้นที่ ต.นาเมืองเป็นพื้นที่ใหญ่ หากนำแอปฯ นี้มาใช้น่าจะทำให้การติดต่อสื่อสารสะดวกขึ้น จึงได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เอไอเอสในพื้นที่ให้ส่งทีมงานลงมาช่วยอบรมการใช้งานแอปฯนี้ รวมทั้งทำข้อตกลงระหว่าง รพ.สต. และ อสม.ร่วมกันว่า ก่อนหน้านี้เราใช้ไลน์และเฟสบุ๊กในการติดต่อสื่อสาร แต่หลังจากนี้เราจะสื่อสารผ่านแอปฯอสม.ออนไลน์แทนเพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้เฉพาะ อสม. คนอื่นไม่สามารถปะปนเข้ามาได้ อีกทั้งยังเก็บข้อมูลไว้ได้นานกว่าไลน์ด้วย
แน่นอนว่าตอนนั้น อสม.ไม่ได้มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนกันทุกคน เบื้องต้นเราขอหมู่บ้านละ 1-2 คนก่อน รวมๆแล้วมี อสม.ชุดแรก 37 คนที่มาอบรม และจะเป็นตัวแทนในแต่ละหมู่บ้านในการช่วยสอนอสม.คนอื่นๆต่อไป ซึ่งปัจจุบันก็มี อสม.ที่เปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนและสามารถใช้แอปฯนี้ได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับรูปแบบการใช้งาน ปกติงานที่ อสม.ต้องทำเป็นประจำคือแบบรายงานประจำเดือน หรือ อสม.1 ช่วงแรกเราใช้วิธีถ่ายเอกสารแล้วแจกให้อสม.เขียนรายงานแล้วส่งรูปมาทางแอปฯ แต่ในช่วงต่อมาเราเสนอไปว่าอยากให้พัฒนาให้ทำแบบ อสม.1 ในมือถือได้เลย ซึ่งทางเอไอเอสก็รับข้อเสนอนำกลับไปพัฒนา ทำให้ปัจจุบันนี้ อสม.สามารถกรอกแบบฟอร์มรายงานบนมือถือได้เลย อสม.คนไหนที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนก็ให้เพื่อนทำให้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องการพิมพ์เอกสาร นอกจากนี้เมื่อส่งแบบรายงานเสร็จแล้ว ระบบก็จะรวมข้อมูลให้อัตโนมัติประมวลผลออกมาเป็นภาพรวมของหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่เราไม่ต้องไปนั่งเช็กทุกเดือนว่าใครส่งแล้วบ้าง ไม่ต้องเสียเวลาประมวลผลข้อมูลอีก ทำให้เกิดความสะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น
เช่นเดียวกับการนัดหมายประชุมประจำเดือน แต่เดิมเราใช้ส่งหนังสือเอกสารไปหาประธาน อสม.แล้วให้กระจายข่าว แต่ตอนนี้สามารถแจ้งผ่านแอปฯ ให้ อสม. ทุกหมู่บ้านทราบพร้อมกัน ถ้าคนไหนเข้าประชุมก็กดตอบรับ ถ้าคนไหนมาประชุมไม่ได้ก็จะตอบมาว่าไม่ได้เนื่องจากอะไร ภายใน 5 นาทีก็ครบ 16 หมู่บ้านแล้ว และพอเสร็จการประชุมก็จะมีบันทึกการประชุมให้อสม.ที่ไม่ได้มาร่วมสามารถเปิดอ่านในภายหลังได้
นอกจากความสะดวกในการบริหารจัดการแล้ว เรายังใช้ประโยชน์จากแอปฯนี้ในการเยี่ยมบ้าน เพราะลำพังแค่เจ้าหน้าที่ 7 คนคงดูแลได้ไม่ทั่วถึง เราใช้วิธีให้ อสม.เข้าไปช่วยดูแล เช่น สมมุติมีผู้ป่วยที่ส่งกลับจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้านแล้วจำเป็นต้องมีการติดตามอาการ เราจะให้ อสม.ไปดูแลให้แล้วส่งรูปถ่ายพร้อมพิกัดแผนที่กลับมาให้ ทำให้ รพ.สต.ทราบได้ว่าผู้ป่วยอยู่จุดไหน หรือหากผู้ป่วยมีปัญหาเกินขีดความสามารถของ อสม.ที่จะดูแล ก็สามารถขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลเบื้องต้นได้โดยถ่ายวิดีโอส่งมาให้ประเมินอาการได้ทันที และถ้าจำเป็นต้องลงไปดูแลเพิ่มเติมก็สามารถเดินทางไปตามพิกัดบนแผนที่ได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องไปเสียเวลาสอบถามเส้นทางในพื้นที่อีก
ขณะเดียวกัน เครื่องมือนี้ยังช่วยในเรื่องการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เพราะข่าวสารที่ส่งออกไปผ่านแอปฯจะมาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งหมด อสม.สามารถนำไปอ่านในหอกระจายข่าวได้เลย จากเดิมที่เมื่อก่อนต้องพิมพ์เป็นหนังสือส่งถึงผู้ใหญ่บ้านซึ่งบางครั้งถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนก็ไม่ทันการณ์ เช่นเดียวกับงานควบคุมโรคก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น สมมุติทางโรงพยาบาลอำเภอแจ้งมาว่ามีไข้เลือดออกระบาด เราสามารถแจ้ง อสม.ให้ออกควบคุมลูกน้ำยุงลายได้รวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง รวมทั้งการแจ้งเตือนข่าวก็รวดเร็วขึ้น เช่น เกิดอุบัติเหตุในหมู่บ้าน อสม.สามารถแจ้งเหตุรวมทั้งแจ้งพิกัดได้ด้วยว่าเกิดที่จุดไหน
สรุปภาพรวมตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ รพ.สต.บ้านนาเมืองใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์ เป็นต้นมา เรารู้สึกว่ารู้สึกว่าประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น จากเดิมที่ทำรายงานกระดาษก็ทำบนโทรศัพท์ได้ ทำให้ระบบฐานข้อมูลของ รพ.สต.ดีขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น ตรวจสอบการทำงานได้ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ลงได้เยอะ งานบางอย่างถ้าอสม.ทำได้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องลงไปดูเอง ทำให้เอาเวลาไปทำงานอย่างอื่นได้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้ผมอยากชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอยากเชิญชวน รพ.สต.ที่ยังลังเลใจให้มาลองใช้กันดูครับ ยิ่งถ้าเป็น รพ.สต.ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่รับผิดชอบมาก มีจำนวน อสม.เยอะ แอปฯ อสม.ออนไลน์นี้จะยิ่งเป็นประโยชน์ในการทำงานมากยิ่งขึ้นครับ
ผู้เขียน : นายวิบูลย์ ทนงยิ่ง ผอ.รพ.สต.บ้านนาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
- 54 views