เปิดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 คึกคัก ระดมสมองจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพ ภายใต้แนวคิดหลัก “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” รายงานความก้าวหน้า 11 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พบความก้าวหน้าอย่างน่าพอใจ พร้อมพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ 4 ประเด็นร้อน ชูรู้เท่าทันสุขภาพเพื่อการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อ-พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง-อีสปอร์ตกับสุขภาวะของเด็ก และการคุ้มครองบริการด้านทันตกรรม พร้อมฉลองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 12 ธันวาคม โดยนานาประเทศยกไทยเป็นประเทศตัวอย่างที่ดีในการพัฒนา ‘ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ แม้ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย
วันนี้ (วันที่ 12 ธันวาคม 2561) ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 จัดโดยคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ร่วมกับภาคี ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคีภาครัฐ วิชาการ เอกชน เครือข่ายพื้นที่ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานกว่า 2,500 คน
นพ.กิตติศักดิ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ" ระบุ การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้เป็นก้าวแรกของการเริ่มทศวรรษใหม่ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้แนวคิดหลัก “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” ซึ่งในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติระบุว่าเป็นความสามารถในการค้นหา เข้าถึง ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ และยังได้กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและแผนยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย
“ในปีนี้มีประเด็นที่จะพิจารณาร่วมกันในที่ประชุม 4 เรื่อง ได้แก่ ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ, การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน, ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม ล้วนเป็นเรื่องสำคัญและใกล้ตัวที่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการทำให้สำเร็จ”
โดยในพิธีเปิดการประชุม ประธานจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ และองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเฉลิมฉลองในโอกาส วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล หรือ Universal Health Coverage Day (UHC Day) ในวันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้รับคำชื่นชนจากนานาประเทศว่าสามารถดำเนินการเรื่องหลักประกันสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยทางเศรษฐกิจ แต่สามารถมีระบบจัดการด้านหลักประกันสุขภาพได้อย่างน่าชื่นชม และเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบสุขภาพอีกด้วย
ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวระหว่างเป็นประธานในการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่า ที่ผ่านมามีมติสมัชชาสุขภาพไปแล้ว 77 มติ โดยส่วนหนึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อีกส่วนหนึ่งถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเครือข่ายระดับพื้นที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปีนี้ มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เข้าสู่การรายงานและแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนมตินโยบายสาธารณะรวมทั้งสิ้น 11 มติ ล้วนแล้วแต่มีความคืบหน้าในการดำเนินการไปอย่างน่าพอใจ อาทิ ประเด็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้มีการเผยแพร่ธรรมนูญฯ ให้เป็นที่รับรู้และใช้ประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วน และยังได้ผลักดันสาระสำคัญของธรรมนูญฯ เข้าไปเป็นแนวทางการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ รวมทั้งใช้เป็นแนวทางและฐานอ้างอิงในการจัดทำข้อเสนอของหน่วยงาน และเป็นเครื่องมือพัฒนาพื้นที่มากมาย
ในขณะที่ประเด็นความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุข มีความก้าวหน้าทั้งเชิงนโยบายและโครงสร้าง เกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ อาทิ การให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขครอบคลุมงานการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรคกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ การค้นหาคนไทยที่ยังไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ การคืนสิทธิให้กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะ การสร้างกลไกบูรณาการสิทธิประโยชน์มาตรฐานเดียว 3 กองทุน กองทุนตำบล นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
“การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็นอื่นๆ ได้แก่ นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนใต้, การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์, การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ, กลไกและกระบวนการสมัชชาสุขภาพ, แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของ ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.2557-2561, น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน, การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ, การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม, การสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ก็ล้วนแล้วแต่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน” นพ.พลเดชกล่าว
การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 จะยังมีการจัดงานต่อเนื่องอีก 2 วันระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2561 โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ วันที่ 13 ธันวาคม 2561 พบกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนในประเด็นสุขภาพต่างๆ อาทิ การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพฯ, การแก้ปัญหาอุบัติทางถนนซึ่งเชิญผู้แทน 4 พรรคการเมืองร่วมรับข้อเสนอจากที่ประชุม, การขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติในศาสนาพุทธ, เสวนานโยบายสาธารณะ หัวข้อ ‘ความไม่เป็นธรรมทางเพศภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต’, ‘ยุทธศาสตร์ต้นไม้ สู่ชุมชนเข้มแข็ง: ปลูกไม้กู้เงินได้ ตัดไม่ติดคุก’ กิจกรรมเปิดตัวหนังสือ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา: 9 ปีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย” ศึกษาโดย WHO เป็นต้น และในวันที่ 14 ธันวาคม พบกิจกรรมเวทีสาธารณะ ‘เรียนรู้ อยู่เป็น เช่นไร ในยุคดิจิทัล’, การแถลงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 และ ปาฐกถาพิเศษ ‘รู้เท่าทันสุขภาพ : มุมมองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์’ เป็นต้น
- 19 views