ฟีโบ้ มจธ. ร่วมมือศิริราช พัฒนาระบบจัดการยาอย่างชาญฉลาดโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ให้บริการผู้ป่วยรวดเร็ว ลดเวลาในการรอคอย ลดความผิดพลาดของการเบิกจ่ายยา พื้นที่และต้นทุนการถือครองยา ภาระงานของเภสัชกรและผู้ช่วย
รศ.นพ.วิศิษฏ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือ “ด้านการวิจัยและพัฒนาระบบปฏิบัติการในการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการบริหารจัดการระบบยา” มุ่งเน้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาตามความต้องการจริง สามารถขยายผลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างในด้านเศรษฐกิจและสังคม และสร้างองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีให้แก่ประเทศ เพื่อแก้ไขและพัฒนา “ระบบการจัดการยาอย่างชาญฉลาด” สร้างประโยชน์ด้านความรวดเร็วในการให้บริการผู้ป่วย ลดเวลาในการรอคอย ลดความผิดพลาดและลดภาระงานของเจ้าหน้าที่
โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันโรงพยาบาลมีอายุ 130 ปี จึงมีความตั้งใจให้เกิดโครงการดี ๆ 130 โครงการเพื่อประชาชน โดยหนึ่งในโครงการ คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์มาใช้ เพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชก้าวอย่างมั่นคงสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 การที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะได้ร่วมกันนำองค์ความรู้มาพัฒนากระบวนงานให้มีความชาญฉลาด เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองต่อความต้องการและการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ จึงเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง
รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มจธ. เปิดเผยว่า โครงการนำร่อง (Pilot Project) ภายใต้ความร่วมมือนี้ ปัจจุบันได้เริ่มศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการแก้ไขปัญหาที่พบในโรงพยาบาลศิริราช โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่มีความจำเพาะเจาะจงในระบบของโรงพยาบาล รวมทั้งการวิเคราะห์และวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงโอกาสที่จะต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอนาคต ได้แก่ โครงการการจัดการยาคงคลังอย่างชาญฉลาด (Smart Inventory) ด้วยระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปริมาณที่ประหยัดสำหรับการเบิกจ่ายยาของห้องยา และการสั่งซื้อยาจากซัพพลายเออร์ โดยสามารถรองรับความต้องการยาของคนไข้ ที่มีความแปรปรวนสูงมากในแต่ละช่วงเวลาได้ นอกจากนี้ Smart Inventory สนับสนุนการตัดสินใจด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่สามารถตอบสนองต่อสมรรถนะด้านต่าง ๆ เช่น ความผิดพลาดของการเบิกจ่ายยา พื้นที่และต้นทุนการถือครองยา ภาระงานของเภสัชกรและผู้ช่วย เป็นต้น
รศ.ดร.สยาม กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ไม่ได้มีอยู่แต่ในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างที่ผ่านมา นอกเหนือจากงานวิจัยและพัฒนาด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ฟีโบ้มีงานวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านของ Robotics for Life ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการทำงานร่วมกับมนุษย์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ลดภาระงานของมนุษย์ และ เพิ่มความสะดวกสบายในการทำงานและดำรงชีวิต งานวิจัยดังกล่าวอยู่ในกลุ่มของหุ่นยนต์บริการ (Service Robot) หุ่นยนต์ทางด้านการแพทย์ (Medical Robotics) และการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เป็นต้น
- 352 views