ครม.เพิ่มค่าป่วยการให้อาสาสมัครสาธารณสุข จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท ชี้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ รองรับการเป็น อสม. 4.0 ที่ต้องใช้สมาร์ทโฟน มีค่าอินเตอร์เน็ต เริ่มตั้งแต่ ธ.ค.นี้ สำหรับ อสม.ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน โดยในปี 62 จะใช้งบเพิ่ม 4,218 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินค่าป่วยการ อสม. 12,656 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ อสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ จากเดิมอัตราเดือนละ 600 บาท/คน เป็นเดือนละ 1,000 บาท/คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ทั้งนี้ สธ.รายงานว่า
1. ในปี 2552 รัฐบาลได้เริ่มให้มีการจ่ายค่าป่วยการให้แก่ อสม. โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (13 มกราคม 2552) เห็นชอบและอนุมัติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน 115,000 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงโครงการส่งเสริม อสม.เชิงรุก งบประมาณ 3,000 ล้านบาท และได้มีการออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าป่วยการของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พ.ศ. 2552 ซึ่งข้อ 6 กำหนดให้เบิกจ่ายเป็นรายเดือนในอัตรา 600 บาท/คน
2. โดยที่ สธ.มีนโยบายพัฒนา อสม. ให้เป็น อสม. 4.0 โดยให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยให้ประชาชนมีความรอบรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทั่วถึง ทำให้ อสม.มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่า Smart Phone ค่าบริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ อสม.ยังได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น
2.1 ร่วมกับทีมหมอครอบครัวเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และผู้ป่วยอื่น ๆ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลผู้ป่วย และค่าโทรศัพท์ติดต่อประสานงานต่าง ๆ
2.2 เป็นพี่เลี้ยงให้กับอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) ในการดูแลสุขภาพของครอบครัวที่มีสมาชิกเจ็บป่วย โดย อสม. 1 คน ต้องเป็นพี่เลี้ยง อสค. จำนวน 4 คน
2.3 เป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพรวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและภาคีเครือข่ายในการเชิญชวนประชาชนให้เลิกสูบบุหรี่
3. เนื่องจาก อสม.มีภาระในการดูแลสุขภาพประชาชนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ที่ผ่านมายังไม่มีการเพิ่มค่าป่วยการ อสม. ประกอบกับเดือนเมษายน 2562 จะเป็นวาระครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินโครงการ อสม.เชิงรุก จึงเห็นควรปรับเพิ่มค่าป่วยการ อสม. ตามภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 600 บาท เป็น 1,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมี อสม. ทั้งหมด 1,054,729 คน [ของ สธ. 1,039,729 และของกรุงเทพมหานคร (กทม.) 15,000 คน]
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี
ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า กระทรวงสาธารณสุข ทราบปัญหาดีว่าโรงพยาบาลทั้งของรัฐและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกแห่ง มีความแออัดค่อนข้างมาก โดยตามนโยบายของกระทรวงที่กำหนดไว้ว่าจะพยายามทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง และเมื่อมีการเจ็บป่วยขึ้นมา เราต้องทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ลดภาระลงให้มาก จึงต้องไปสร้างความเข้มแข็งให้ในระบบปฐมภูมิของโรงพยาบาล ซึ่งคือแนวทางของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่ง รพ.สต.ที่มีอยู่ 9,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีกำลังพลไม่มากที่จะดูแลประชาชน จึงต้องอาศัย อสม.เป็นเครื่องมือสำคัญ
“หลังจากที่ผมรับหน้าที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้คุยกับ รมว.สาธารณสุขว่า การจะทำให้นโยบายประสบความสำเร็จจะต้องสร้างความเข้มแข็งทั้ง รพ.สต. และ อสม. ซึ่ง อสม.จะต้องเพิ่มงานในการดูแลประชาชน ก็เป็นน้ำใจในการเสียสละเป็นระยะเวลานานมาก ซึ่งค่าตอบแทน 600 บาท ไม่ได้มากพอที่จะเป็นกำลังใจได้ จึงเสนอนายกฯในเรื่องนี้” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้ การเพิ่มค่าป่วยการ อสม.ครั้งนี้นั้น งบครั้งแรกที่ขอไปจะใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562 เป็นเวลา 10 เดือน จะใช้งบเพิ่ม 4,218 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินค่าป่วยการ อสม. 12,656 ล้านบาท
- 653 views