“หมอศักดิ์ชัย” ลงพื้นที่ติดตามงานคุ้มครองประชากรกลุ่มเปราะบาง “ชาวมานิ” ขึ้นทะเบียนบัตรทองแล้ว 313 คน รับสิทธิบริการสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมยกเว้นชาวมานิใช้สิทธิหน่วยบริการรัฐได้ทุกแห่ง เพิ่มเข้าการถึงบริการ สอดคล้องวิถีชีวิตเคลื่อนย้ายถิ่น
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สปสช.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานเพื่อการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับ “กลุ่มชาติพันธุ์มานิ รักษ์ป่าบอน” จ.สงขลา และ จ.พัทลุง โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรเปราะบางที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิ เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย มีถิ่นอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ ด้วยสภาพสังคมและวิถีชีวิต การอพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ทำให้เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งบางส่วนไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่ได้รับการรับรองสถานะ ทั้งที่เป็นกลุ่มคนติดแผ่นดินอาศัยอยู่เทือกเขาบรรทัดมานานกว่าพันปี ทำให้ไม่ได้รับการดูแลและคุ้มครองสิทธิที่จำเป็นรวมถึงบริการสุขภาพ และจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ได้มุ่งเน้นให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่งชาวมานิเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางนี้
ในอดีตเมื่อเจ็บป่วยชาวมานิจะดูแลรักษากันเองตามภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ใช้สมุนไพรที่ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงเพราะพื้นที่ป่าลดลง เมื่อมีอาการหนักจะขอความช่วยเหลือจากคนคุ้นเคยพาไปโรงพยาบาลใกล้ที่พักอาศัย ซึ่งหน่วยบริการในพื้นที่จะให้การสงเคราะห์เพราะทราบดีว่า ชาวมานิส่วนใหญ่ไม่ถือเงินและไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้ ขณะที่หน่วยบริการไม่สามารถเบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ เพราะเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรทอง จากสถานการณ์นี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ สปสช.เขต 12 สงขลา จึงได้ร่วมดำเนินการเพื่อรับรองสถานะกลุ่มชาวมานิเป็นคนสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ
จากข้อมูลการสำรวจมีจำนวนชาวมานิประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้มีคนที่ได้รับบัตรประชาชนแล้ว 313 คน และจากฐานข้อมูลทะเบียนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2561 พบชาวมานิระบุเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 313 คน ทำให้มีงบประมาณสนับสนุนไปยังหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ในระดับหนึ่ง โดยชาวมานิที่อยู่ในกลุ่มกึ่งสังคมชุมชน และกลุ่มตั้งถิ่นถาวรจะได้รับการดูแลอนามัยแม่และเด็กเป็นระบบมากขั้น และได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การเข้าถึงบริการของกลุ่มมานิยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะการย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยตามห่วงโซอาหาร ทำให้ไม่สามารถไปรับบริการยังหน่วยบริการประจำได้ การส่งต่อตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่รองรับการเข้ารับบริการสาธารณสุขตามปกติหรือตามความจำเป็นของกลุ่มชาวมานิ รวมทั้งการย้ายสิทธิหรือเปลี่ยนหน่วยบริการได้ 4 ครั้ง/ปี ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมความเป็นอยู่และวิถีชีวิตชาวมานิที่อยู่อาศัยกลางป่า ไม่มีบ้านเลขที่ชัดเจน พูดภาษาไทยไม่ได้หรือได้แต่น้อย จึงอาจไม่สะดวกในการใช้สิทธินี้ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้กลุ่มชาวมานิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีการส่งตัว เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องย้ายที่อยู่ตามห่วงโซ่อาหาร โดยคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยกำหนดว่าในการเข้ารับบริการของกลุ่มชาติพันธุ์มานิและโอรังอัสรีทุกคนสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง ทั้งที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ (รพ.สต.) หน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อ
“ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแม้ว่าจะให้การคุ้มครองสิทธิประชาชน รายงานล่าสุดปี 2561 ได้ครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันแห่งชาติ ร้อยละ 99.94 โดยยังมีประชากรบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อย่างกลุ่มชาวมานินี้ และการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้น สปสช.จึงให้ความสำคัญเพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 156 views