ทันตแพทยสภาแจง 3 ข้อเท็จจริง หลังมีผู้ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องทางโซเชียลมีเดีย 1.ยืนยันกรณีเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมไม่ต้องไปขออนุญาตจาก ปส., ไม่ต้องสอบเป็นเจ้าหน้าที่ RSO และ ปส.ไม่มีอำนาจตรวจจับคลินิก 2.ทันตแพทยสภามีอำนาจรับรองหลักสูตรการศึกษาเช่นเดิม และ 3.ไม่มีการพักใช้ใบอนุญาตทันตแพทย์ที่ได้หน่วยไม่ครบตามเกณฑ์
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย ที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในกรณีเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม การออกกฎหมายการอุดมศึกษา และการศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทย์ ทางทันตแพทยสภาขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องดังนี้
1.กรณีเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการมากว่า 2 ปีแล้ว ขณะนี้ใกล้จะได้ข้อยุติตามเป้าหมายคือ ทันตแพทย์ต้องใช้เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมได้โดยต้องไม่ไปต้องไปขอใบอนุญาตจาก ปส., ให้เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และการควบคุมกำกับนั้นต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
สำหรับความคืบหน้าของการแก้ไขกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันตินั้น ร่างแก้ไขกฎหมายผ่านการพิจารณาของรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา และวิปรัฐบาลแล้ว จะบรรจุเป็นวาระพิจารณาใน สนช.วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 นี้ ซึ่งเป็นด่านสุดท้าย และคาดว่ากฎหมายนี้จะผ่าน สนช.ภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้ก่อนที่ สนช.จะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เมื่อกฎหมายได้รับการแก้ไขแล้ว ทันตแพทย์ไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนครอบครองเครื่องเอกซเรย์กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีหรือ RSO กับ ปส., ปส.ไม่มีอำนาจมาตรวจจับคลินิกทันตกรรม และผู้ช่วยทันตแพทย์ที่ใช้เครื่องเอกซเรย์จะมีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยโดยผ่านกระบวนการศึกษาอบรมจากราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทยทางออนไลน์
2.การออกกฎหมายการอุดมศึกษาที่ไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตรนั้น ทันตแพทยสภาได้ร่วมกับ 11 สภาวิชาชีพคัดค้าน ซึ่งรัฐบาลได้รับฟังและยอมถอยโดยตัดบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปรับรองหลักสูตรออกทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ทันตแพทยสภายังมีอำนาจในการรับรองหลักสูตรอยู่ และยังปฏิบัติเหมือนเดิมตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมทุกประการ ส่วนประเด็นที่จะมีผู้ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อให้วินิจฉัยว่าสภาวิชาชีพไม่มีอำนาจในการรับรองหลักสูตรซึ่งขัดรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ฟ้องและยังไม่มีการดำเนินการใดใด ซึ่ง 11 สภาวิชาชีพได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างชัดเจนว่า ทุกหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพต้องให้สภาวิชาชีพมีส่วนในการพิจารณารับรอง และได้มีมาตรการรองรับไว้แล้ว
3.ไม่มีการพักใช้ใบอนุญาตทันตแพทย์ที่ได้หน่วยไม่ครบตามเกณฑ์ ทันตแพทยสภาขอชี้แจงว่า ตามข้อบังคับทันตแพทยสภา ทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 หากได้หน่วยการศึกษาต่อเนื่องไม่ครบตามที่กำหนดไม่มีการพักใช้ใบอนุญาต ส่วนทันตแพทย์ที่ได้รับอนุญาตหลังวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปีตามกฎหมายที่ สนช.แก้ไขใหม่ อย่างไรก็ตาม ทันตแพทยสภาได้ออกแบบให้การได้หน่วยการศึกษาต่อเนื่องทำได้หลายวิธี บนหลักการที่ไม่สร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้กับสมาชิก เช่น เก็บคะแนนผ่านการศึกษาออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต การเข้าร่วมประชุมวิชาการ ซึ่งต่อไปโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งสามารถจัดประชุมวิชาการและให้หน่วยการศึกษาต่อเนื่องเองได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องมาเข้าร่วมประชุมด้วยการในส่วนกลาง นอกจากนี้งานรักษาผู้ป่วยที่ทำอยู่เป็นงานประจำก็นำมาคิดเป็นหน่วยการศึกษาต่อเนื่องได้
“ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นซึ่งผมได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปแล้ว จึงเรียนมาเพื่อให้ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นจากความพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องของคณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ 8 เพื่อผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปกป้องประชาชนให้ได้รับบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพและมาตรฐาน” นายกทันตแพทยสภา กล่าว
- 27 views