รพ.มะเร็งลำปาง เผยภาคเหนือ พบมะเร็งตับและท่อน้ำดีในชายมากที่สุด เหตุจากพฤติกรรมชอบทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ เสี่ยงตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับ ขณะที่หญิงพบมะเร็งเต้านม ครองแชมป์อันดับหนึ่ง
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของประชากรไทย จากข้อมูลของงานทะเบียนมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง พบว่า ในส่วนของภาคเหนือ สถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 – 2555 ค่าอุบัติการณ์โรคมะเร็งในเพศชาย เมื่อเปรียบเทียบต่อประชากรจำนวน 100,000 คน มะเร็งที่พบมากอันดับ 1 คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี (อัตรา = 36.7) อันดับ 2 คือ มะเร็งปอด (อัตรา = 32) และอันดับ 3 คือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (อัตรา = 13.5) ตามลำดับ
สำหรับมะเร็งตับและท่อน้ำดี มีสาเหตุการเกิดไม่ชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการเป็นโรคตับแข็ง และโดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีพฤติกรรมการรับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ ซึ่งมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในตับ และเจริญเติบโตอยู่ในท่อน้ำดี ซึ่งในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลีย อุจจาระมีสีซีดและปัสสาวะมีสีเข้ม ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก หรือ สุกๆ ดิบๆ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
สำหรับค่าอุบัติการณ์ในเพศหญิงเมื่อเปรียบเทียบต่อประชากรจำนวน 100,000 คน มะเร็งที่พบมากสุดคือ มะเร็งเต้านม (อัตรา = 27.9) รองลงมาคือ มะเร็งปอด (อัตรา = 18) และอันดับ 3 คือ มะเร็งปากมดลูก (อัตรา = 17.2) โดยมะเร็งเต้านมส่วนมากนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่สามารถป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ควบคุมน้ำหนักตัว ลดการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และสามารถตรวจพบมะเร็งได้เร็ว โดยการตรวจเต้านมเป็นประจำทุกเดือน
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวว่า โรงพยาบาลมะเร็งลำปางให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งแก่ประชาชนในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคเหนือ และจากสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในปี 2560 พบมะเร็งในเพศชายมากสุดคือ มะเร็งปอด (22.9%) รองลงมาคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ (15%) และมะเร็งตับและท่อน้ำดี (9.4%) สำหรับเพศหญิงมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 คือ มะเร็งเต้านม (44.3%) อันดับ 2 คือ มะเร็งปากมดลูก (11.9%) และอันดับ 3 คือ มะเร็งปอด (8.9%)
ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการรักษาทำได้หลายวิธี โดยการฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน ยาแบบพุ่งเป้าหมาย และการผ่าตัด ถึงแม้โรคมะเร็งเต้านม จะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของหญิงไทย แต่หากพบได้เร็วในระยะเริ่มแรก โอกาสรักษาให้หายก็ยิ่งสูงขึ้น สำหรับวิธีการคัดกรองเบื้องต้น สามารถตรวจเต้านมได้ด้วยตนเอง โดยการสังเกตความผิดปกติของลักษณะเต้านม เช่น มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกมาจากหัวนม ขนาด ลักษณะ ผิวเต้านมผิดปกติ มีรอยบุ๋ม บวมตึง ผิวเปลือกส้ม เป็นต้น และการใช้มือตรวจคลำตามหลัก 3 3 3 คือ 3 นิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) 3 ท่า (ท่ายืน ท่านั่ง ท่านอน) และ 3 ระดับ (กดคลึงระดับเบา กลาง และหนัก) ทั้งนี้ หากตรวจพบก้อนหรือสังเกตเห็นความผิดปกติของเต้านม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป
- 856 views