ชาวบ้านหนองปรือกันยาง อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา จัดเวทีประชาคมรับรองหนุ่มวัย 38 ปีว่าเป็นคนไทยจริง หลังเข้ากรุงหางานทำแล้วทำบัตรหายมานานกว่า 20 ปี ปลัดอำเภอชี้เลือกใช้วิธีทำประชาคมให้ชาวบ้านช่วยกันรับรองเพราะมีความน่าเชื่อถือว่าเป็นตัวจริง
นายบุญชู น้ำคำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ชาวบ้านหนองปรือกันยาง ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ได้จัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อรับรองว่านายบุญชู น้ำคำ อายุ 38 ปี เป็นคนไทยที่เกิดและโตอยู่ที่บ้านหนองปรือกันยางจริง ซึ่งการทำประชาคมครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขอทำบัตรประชาชนให้กับนายบุญชู หลังจากถูกนายจ้างยึดบัตรประชาชนตัวจริงและใช้ชีวิตแบบคนไร้สิทธิมากว่า 20 ปี
นายบุญชู กล่าวว่า เคยทำบัตรประชาชนตอนอายุ 16 ปี จากนั้นเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครไปหางานทำทันที ซึ่งตอนนั้นนายจ้างต้องการคนรับรองก่อนเข้าทำงาน แต่ตนหาคนรับรองไม่ได้ นายจ้างจึงยึดบัตรประชาชนไว้เป็นประกันแทน อย่างไรก็ดี เมื่อทำงานได้ไม่กี่เดือนตนก็ออกจากงานมา และไม่ได้ขอรับบัตรประชาชนคืนมาด้วย โดยคิดว่าคงไม่เป็นไร เดี๋ยวไปทำใหม่ก็คงได้ จากนั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก็ตระเวนรับจ้างไปเรื่อย สุดท้ายมาทำอาชีพเก็บขยะที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นายบุญชู กล่าวว่า ในระยะหลังๆ มานี้เริ่มรู้สึกว่าการไม่มีบัตรประชาชนเป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิต ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐ ไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้ แม้แต่จะเดินทางก็ลำบาก จะซื้อตั๋วรถทัวร์หรือรถไฟก็ต้องใช้บัตร เคยประสบอุบัติเหตุจักรยานยนต์ชนสุนัขจนสลบ เข้าโรงพยาบาลเสียเงินคืนละ 1,500 บาท จึงอยากจะทำบัตรประชาชนอีก โดยเคยเดินทางมาขอทำบัตรในปี 2558 แต่ขณะนั้นปลัดอำเภอคนเก่าบอกว่าต้องเอาผู้ใหญ่บ้านมารับรอง แต่ผู้ใหญ่บ้านคนก่อนไม่ว่าง สุดท้ายจึงทำบัตรไม่สำเร็จ
ด้าน น.ส.อิสรา เจียมวิทยานุกูล ประชาชนชาว อ.หาดใหญ่ จิตอาสาผู้ผลักดันการทำบัตรประชาชนให้นายบุญชูในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนได้รู้จักนายบุญชูเมื่อครั้งที่นายบุญชูมาเป็นจิตอาสาช่วยเก็บขยะในงานคอนเสิร์ตรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ เมื่อวันที่10 มีนาคม 2561 เมื่อพูดคุยกันจึงได้ทราบว่านายบุญชูไม่มีบัตรประชาชน จึงพยายามผลักดันขอทำบัตรประชาชนให้นายบุญชู และเขียนเรื่องราวถ่ายทอดผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวและได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลอย่างมาก เรื่องราวดังกล่าวได้ทราบถึงนายปิยะนันท์ มูลตรีมา ปลัดอำเภอท่าตะเกียบ และได้ติดต่อประสานมาว่ายินดีให้การช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี ในตอนแรกคิดว่านายบุญชูเคยมีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว และระบบของกรมการปกครองก็น่าจะเชื่อมโยงออนไลน์กัน จึงคิดว่าน่าจะทำบัตรประชาชนที่ไหนก็ได้ จึงติดต่อขอทำบัตร ณ ที่ว่าการ อ.หาดใหญ่ก่อน เพื่อที่นายบุญชูจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมาทำบัตรที่ อ.ท่าตะเกียบ
อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาบางประการ ทางอำเภอหาดใหญ่ไม่ยอมทำบัตรให้ สุดท้ายจึงต้องเดินทางมาทำบัตรที่ อ.ท่าตะเกียบในที่สุด โดยการเดินทางครั้งนี้ได้รับเงินบริจาคจากผู้อ่านในเฟสบุ๊กเพื่อช่วยเหลือค่าเดินทางรวมแล้วประมาณหมื่นกว่าบาท ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว เงินที่เหลือจะได้นำไปเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่นายบุญชูต่อไป เพราะที่ผ่านมานายบูญชูไม่เคยมีบัญชีเงินฝากธนาคารเลยสักครั้งในชีวิต
นายปิยะนันท์ มูลตรีมา
นายปิยะนันท์ มูลตรีมา ปลัดอำเภอท่าตะเกียบ กล่าวว่า การทำบัตรประชาชนมีหลายกรณี คือ 1.เคยแจ้งเกิด มีสูจิบัตรและเคยทำบัตรมาก่อนแล้วแต่อาจปล่อยทิ้งร้างมานาน ข้อมูลในการทำบัตร เอกสารหลักฐานของราชการจึงยังพอสืบค้นได้ รวมทั้งอาศัยข้อมูลแวดล้อม เช่น เคยเรียนหนังสือ มีญาติหรือบุคลคลผู้น่าเชื่อถือรับรอง ตรงนี้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจทำบัตรให้ได้ แต่หากไม่มีหลักฐานเหล่านี้มาเข้าองค์ประกอบและไม่สามารถเชื่อมโยงได้ ก็จะเกิดความลำบากใจของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ในกรณีของนายบุญชูเคยทำบัตรมาแล้ว มีเลขประจำตัว 13 หลัก ส่วนญาติหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือที่จะมารับรองตัวตนให้นั้น ตนเลือกใช้วิธีการทำประชาคมหมู่บ้าน เพราะจะได้ให้ชาวบ้านหลายๆ คนช่วยกันยืนยันตัวตนว่าเป็นนายบุญชูตัวจริงไม่ใช่คนอื่นมาสวมสิทธิซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า
2. เคยแจ้งเกิดแต่ไม่เคยทำบัตรเลย ก็จะคล้ายกรณีที่ 1 แต่ความน่าเชื่อถือจะอ่อนกว่าเพราะยังไม่เคยทำบัตร ตรงนี้ถ้าเอกสารหลักฐานที่นำมาแสดงยังไม่สามารถทำให้เชื่อถือได้ว่าเป็นบุคคลที่เคยแจ้งเกิดจริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่สามารถใช้การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก็คือการตรวจ DNA ว่าตัวบุคคลที่ขอทำบัตรประชาชนมีความเชื่อมโยงกับญาติที่มารับรองหรือไม่ จะสบายใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
“การตรวจ DNA หลักๆ จะเชื่อมโยงกับสายข้างบน คือ บิดา มารดา ปู ย่า ตา ยาย หรือพี่น้องกัน ถ้ามี DNA สอดคล้องกัน ก็จะเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณา ตรงนี้สำหรับคนที่ไม่มีเงิน เรามีโครงการของกรมการปกครองที่ให้ลงทะเบียนเพื่อตรวจ DNA หรือถ้ามีใครกำลังพอ ก็สามารถขอให้สำนักทะเบียนทำหนังสือส่งเรื่องไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจพิสูจน์ DNA ได้” นายปิยะนันท์ กล่าว
นายปิยะนันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้เข้าใจมุมของเจ้าหน้าที่ว่าต้องแบกรับอยู่ 2 อย่าง คือ งานบริการและงานความมั่นคง ในกรณีที่กระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก มีหลักฐานพร้อมก็สามารถบริการได้ แต่หากมีอะไรที่ติดขัดหรือหลักฐานขาดไปก็ต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคงด้วย เพราะถ้ามีปัญหาขึ้นมา คนที่รับผิดโดยตรงก็คือตัวเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องหาหลักฐานเข้ามาประกอบ ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันให้สบายใจทั้ง 2 ฝ่าย แต่กรณีที่ตรวจ DNA แบบนี้ สายข้างบนก็ต้องมีหลักฐานหรือมีบัตรประชาชน ถ้าพ่อไทยหรือแม่ไทยและยังมีชีวิตอยู่ การพิสูจน์ DNA ก็เป็นแนวทางที่ดีกว่า แต่ถ้าสายบนก็ไม่มีเอกสารมาพิสูจน์ การทำบัตรประชาชนก็จะยุ่งยากเข้าไปอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการทำประชาคมไปเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 วันต่อมานายบุญชูได้เดินทางไปทำบัตรประชาชน ณ ที่ว่าการ อ.ท่าตะเกียบ และได้บัตรประชาชนจากมือ น.ส.กมลชญา ประเสริฐสิน นายอำเภอท่าตะเกียบในที่สุด
- 53 views