สพฉ.จับมือองค์การอนามัยโลก (WHO) กระทรวงสาธารณสุข และ สสส. เตรียมจัดงาน Safety 2018 ยกระดับการป้องกันการบาดเจ็บและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชากรทั่วโลก พร้อมเปิดสถิติมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงของการทำร้ายกันเอง 12 ล้านคนต่อปี รองลงมาเป็นอุบัติเหตุจากรถยนต์ที่มีมากถึง 1.3 ล้านครั้งต่อปี และคนแก่ที่บาดเจ็บจากการหกล้มมากถึง 6 แสนคนต่อปี พร้อมเตรียมผนึกนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันการบาดเจ็บจากทั่วโลกแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
สืบเนื่องจากวันที่ 5-7 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตรียมจัดงาน Safety 2018 หรือ WORLD CONFERENCE ON INJURY PREVENTON AND SAFETY PROMOTION 2018 ขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยจะมีนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันการบาดเจ็บหลากหลายหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สพฉ.เป็นหนึ่งในแกนนำหลักในการจัดงานครั้งนี้ การประชุม Safety 2018 ในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการป้องกันการบาดเจ็บทั้งกรณีการบาดเจ็บทั่วไปและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยการประชุมจัดมาแล้ว 12 ครั้งซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนประเทศที่เป็นเจ้าภาพในการจัดทุก ๆ 2ปี โดยครั้งที่แล้วจัดขึ้นที่ประเทศฟินแลนด์ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในครั้งต่อไปซึ่งก็คือการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 5-7 พ.ย.2561 ที่จะถึงนี้ที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา ทั้งนี้การประชุมในทุกๆครั้งจะจัดในโซนประเทศยุโรปที่พัฒนาเรื่องความปลอดภัยไปไกลแล้ว ดังนั้นการจัดที่ประเทศไทยในครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่จัดในประเทศที่เรื่องความปลอดภัยยังมีสถิติที่น่าเป็นกังวลอยู่ โดยเฉพาะเรื่องอุบัติบนท้องถนนที่ประเทศเรายังครองแชมป์อันดับต้นๆ ของโลก
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวอีกว่า การประชุม Safety เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสวีเดน โดยขณะนั้นผู้คนในโซนประเทศยุโรปเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการเจอกันระดับโลกว่าด้วยเรื่องของการป้องกันการบาดเจ็บ เพราะมีการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วโลกเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บที่มนุษย์ทำร้ายกันเองที่มีคนตายเกือบ 12 ล้านคนต่อปีไม่นับรวมกับการเกิดภัยพิบัติ ขณะที่สถิติจากทั่วโลกมนุษย์ก็ขับรถชนกันตายมากถึง 1.3 ล้านครั้งต่อปี และมีคนแก่ที่เริ่มล้มและไปเสียชีวิตภายหลังจากการบาดเจ็บสะโพกหักบ้าง กระดูกสันหลังทรุดบ้างอีกประมาณ 6 แสนกว่าคนต่อปีทั่วโลก และยังมีเด็กที่จมน้ำตายอีกกว่า 3 แสนคนต่อปีด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุต่าง ๆ อีกมากมายที่ทำให้มนุษย์บาดเจ็บและเสียชีวิตดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเวทีที่จะนำเรื่องราวดี ๆ ที่แต่ละชาติร่วมกันต่อสู้เรื่องการบาดเจ็บขึ้นมาพูดคุยและหาแนวทางในการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่จะเกิดขึ้นกับประชากรในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วย
นายแพทย์สัญชัย ชาสมบัติ
นายแพทย์สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติในฐานะประธานฝ่ายวิชาการของการประชุมครั้งนี้กล่าวว่า สำหรับตีมของการจัดงานในครั้งนี้เราเน้นไปที่เรื่อง Advance injury and violence prevention ความหมายคือการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการประชุมที่เน้นในเรื่องของการป้องกันการบาดเจ็บและความรุนแรงที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาแบบก้าวกระโดดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ที่เรียกง่ายๆ ว่า SDGsที่ตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งตีมของเราจะยกระกับการป้องกันความรุนแรงโดยใช้การมุ่งตามทิศทาง 17 ประการของ SDGsที่ยูเอ็นต้องการโดยประเทศไทยต้องกลับมาดูว่าเราอยู่ที่อันดับเท่าไหร่ในการให้คะแนน ซึ่งในปี 2017 ที่ผ่านมาเรายังอยู่ในอันดับที่ 55 มันยิ่งตอกย้ำให้รัฐบาลไทยนักวิชาการไทยและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาระดมสมองช่วยกันเพื่อพัฒนาเรื่องความยั่งยืนของประเทศไทยในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมให้ได้
“ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการจัดงานครั้งนี้ในหลากหลายเรื่องมากไม่ว่าจะเป็น 1. เราจะได้เครือข่าย World safety ระดับนานาชาติที่จะมาช่วยกันพัฒนาต่อยอดเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บในประเทศของเราได้ 2. การจัดประชุมในครั้งนี้จะทำให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องของความปลอดภัยมากขึ้น 3. การจัดประชุมในครั้งนี้จะมีการประกาศในเรื่องของการจัดการเรื่องความปลอดภัยร่วมกันระดับโลกและจะเป็นโอกาสในการสร้างข้อเสนอให้กับรัฐบาลในเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ด้วยตนจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมงานในครั้งนี้” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว
สำหรับงาน Safety 2018 หรือ WORLD CONFERENCE ON INJURY PREVENTON AND SAFETY PROMOTION 2018 จะจัดขึ้นในวันที่ 5-7 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยกิจกรรมภายในงานจะแบ่งออกเป็นแบ่งเป็น 2ส่วน ทั้งส่วนของการนำเสนองานวิชาการจากนักวิชาการด้านการป้องกันการบาดเจ็บจากหลากหลายประเทศทั่วโลกในหลากหลายประเด็น และในส่วนของเวที work shop ที่เป็นการประชุมในวงย่อยเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการลดอุบัติเหตุให้ได้อย่างรวดเร็ว และการลงพื้นที่เพื่อดูการจัดการในเรื่องของการป้องกันการบาดเจ็บและการเสียชีวิตในประเทศไทยในประเด็นพิเศษต่างๆ เช่นการป้องกันเด็กจมน้ำ และการดำเนินในเรื่องระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยด้วย
- 4 views