เลขาธิการ สปสช. แจงแนวทางการบริหารกองทุนปีงบ 2562 ระบุต้องตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ชี้ 3 มุมมองที่ต้องขับเคลื่อน “ผู้รับบริการ-ระบบบริการ-การเงินการคลัง”
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในเวทีอภิปราย “ความร่วมมือกับการพัฒนาระบบ UC” ภายใต้งานประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2561 ตอนหนึ่งว่า จุดเน้นในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพในปีงบประมาณ 2562 คือการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ รวมถึงการดูแลในมิติต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับประชาชนเป็นสำคัญ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมุมมองที่เป็นประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.ผู้รับบริการ หรือประชาชนคนไทยซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุด โดยสิ่งที่ สปสช.กำลังมองคือเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเพิ่มเหล่านั้นไม่ได้กำหนดขึ้นมาจากความต้องการ แต่กำหนดผ่านการศึกษาและมีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ
“สิทธิประโยชน์ไม่ได้กำหนดขึ้นมาจาก want หรือความต้องการ แต่เรากำหนดขึ้นมาจาก need คือความจำเป็นที่ต้องได้รับผ่านการกลั่นกรอง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า เมื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ขึ้นมาแล้ว ประเด็นที่ตามมาก็คือเรื่องการเข้าถึง ซึ่งภาคส่วนระดับพื้นที่จะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาให้ได้มากที่สุด
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า จากผลการดำเนินการที่ผ่านมา เราพบว่ายังมีประชาชนบางกลุ่มที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยหรือยังเข้าไม่ถึง เช่น กลุ่มนักโทษ พระสงฆ์ คนชายขอบ หรือผู้ที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิหรือสถานะต่างๆ โดยในอดีตกลุ่มคนเหล่านี้คล้ายกับถูกทอดทิ้ง ดังนั้นตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน รวมถึงทิศทางนับต่อจากนี้คือการเพิ่มหรือให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
สำหรับมุมมองที่ 2.ระบบบริการ ที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เด่นชัดและสามารถวัดผลได้ ซึ่งควรมีฐานการดำเนินการสองฐาน ได้แก่ ฐานของหน่วยบริการที่ลงไปทำงานเชิงวิชาชีพโดยตรง และฐานของท้องถิ่นและชุมชน ที่จะใช้กองทุนสุขภาพตำบลและกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.) เพื่อสร้างให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น โดยในส่วนนี้ สปสช.ให้ความสำคัญและมีเงินหมุนเวียนอยู่ประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท
“แม้ว่าเราจะมีการส่งเสริมป้องกันโรคแล้ว แต่ก็คงต้องมีความเจ็บป่วยตามมา ในส่วนนี้เราก็พยายามพัฒนาสิทธิประโยชน์และเทคโนโลยี รวมถึงทำให้ผู้ได้รับบริการและผู้ให้บริการได้รับความปลอดภัย หรือ 2 P Safety ด้วย” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังมีการเตรียมระบบบริการด้านอื่นๆ เพื่อรองรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะยาว รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค
3.ระบบการเงินการคลัง ซึ่งส่วนใหญ่ สปสช.จะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตัวคิดว่ามี 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ จะทำอย่างไรถึงจะความพอเพียง ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเพิ่มงบประมาณให้หน่วยบริการแล้ว แต่ในระยะยาวนั้นยังเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาคำตอบในเรื่องนี้ ส่วนประเด็นถัดมาคือเรื่องประสิทธิภาพที่ต้องดำเนินการตามมาตฐานให้ดีที่สุด
- 25 views