mhealthintelligence.com รายงานเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 ถึงการศึกษาวิจัยล่าสุดที่ชี้ว่า ผู้ให้บริการสุขภาพ วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยด้วยการสาธารณสุขทางไกลได้ดีเทียบเท่าหรือกระทั่งดีกว่าการรักษาตัวต่อตัว หรือว่าปรากฏการณ์นี้กำลังจะบอกเราว่า เทคโนโลยีการรักษาทางไกลจะมาถึงจุดที่ถึงพร้อมแล้ว?

การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้เสนอว่าการสาธารณสุขทางไกลอาจคุ้มค่ากว่าการรักษาแบบตัวต่อตัว ขณะที่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าเทคโนโลยีการสาธารณสุขทางไกลช่วยเพิ่มศักยภาพของแพทย์ในฐานะผู้ให้บริการสุขภาพ

การศึกษาวิจัยระยะ 1 ปีโดยบริษัทฮิวมานา (Humana) พบว่าแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีการดูแลรักษาทางไกลสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะน้อยกว่าที่สั่งจ่ายในคลินิก อีกทั้งรอบคอบกับผลตรวจและการตรวจติดตามมากขึ้น และนำไปสู่ประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น

และที่สำคัญ...บริการสาธารณสุขทางไกลมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเพียง 38 ดอลลาร์ (ราว 1,200 บาท) เทียบกับเฉลี่ย 114 ดอลลาร์ (ราว 3,700 บาท) สำหรับการพบแพทย์ในคลินิก

“ข้อมูลนี้ชี้ว่าการสาธารณสุขทางไกลสามารถเป็นด่านหน้าของการรักษาพยาบาลครับ” นพ.เอียน ตง หัวหน้าทีมแพทย์ทางไกลด็อกเตอร์ออนดีมานด์ในนครซานฟรานซิสโกเผย “ไม่ใช่แค่ของฮือฮาเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวครับ”

แม้ผลลัพธ์การศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทั้งหมด แต่ข้อมูลก็ชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของตัวแบบการสาธารณสุขทางไกลที่อาจนำไปสู่บริการรูปแบบใหม่ และอาจเปิดโอกาสสำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาโดยเฉพาะบริการเมดิแคร์และเมดิคเอด

ความถึงพร้อมจะนำไปสู่ความยั่งยืน

เมื่อปีก่อนบริษัทซิปโนซิส (Zipnosis) ผู้ให้บริการการสาธารณสุขทางไกลได้จับมือกับบริษัทแครอตเฮลธ์ (Carrot Health) เพื่อศึกษาบริการสาธารณสุขทางไกลที่สอดคล้องกับผู้บริโภคและมีความอย่างยั่งยืน การศึกษาชี้ว่าระบบสุขภาพที่อาศัยเทคโนโลยีการรักษาเสมือนจริงสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น ขณะเดียวก็สร้างรายได้ผ่านระบบการให้บริการที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น

“แม้ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แต่ข้อมูลนี้ก็ชี้ชัดว่าระบบสุขภาพสามารถใช้เทคโนโลยีการรักษาเสมือนจริงเพื่อเพิ่มการใช้บริการและการสื่อสารกับผู้ป่วย รวมถึงเพิ่มรายได้จากการให้บริการ” จอน เพียร์ซ ผู้บริหารของซิปโนซิส และเคิร์ต วอลเตนบอฟ ผู้บริหารของแครอตเฮลธ์ระบุในการศึกษาวิจัยของแครอตเฮลธ์

การศึกษาโดยความร่วมมือระหว่างฮิวมานาและด็อกเตอร์ออนดีมานด์ (ยังไม่ได้ตีพิมพ์) เปรียบเทียบผู้ป่วย 5,500 รายในปี 2559 และ 2560 โดยเทียบระหว่างผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ยังคลินิกและผู้ป่วยที่ใช้บริการทางไกลของด็อกเตอร์ออนดีมานด์ จากการศึกษาพบว่าแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีทางไกลสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะคิดเป็นอัตราร้อยละ 36.4 เทียบกับร้อยละ 40.1 จากบริการในคลินิก

การศึกษายังพบว่าอัตราการส่งต่อและตรวจติดตามสูงกว่าเล็กน้อยจากบริการทางไกลในช่วง 2 สัปดาห์แรกภายหลังการพบแพทย์ครั้งแรก แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงภายหลัง 2 เดือน ซึ่งชี้ว่าแพทย์ส่งต่อผู้ป่วยที่รักษายากหรือไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัดไปยังการรักษาอื่น เช่น คลินิกบริบาลเร่งด่วนหรือหน่วยฉุกเฉิน แต่ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยทั่วไปพบว่าแพทย์ที่รักษาผ่านระบบทางไกลมักรักษาตามแนวทางวินิจฉัยและเสร็จสิ้นการรักษาได้เร็วกว่า

นพ.ตง กล่าวว่า การสาธารณสุขทางไกลกระตุ้นให้แพทย์ละเอียดรอบคอบเนื่องจากไม่ได้อยู่ด้วยกันกับผู้ป่วย ทำให้แพทย์ต้องประเมินตามหลักฐานเชิงประจักษ์และส่งตรวจเพื่อให้แน่ใจ หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังผู้บริการรายอื่น กลไกนี้ช่วยร่นระยะเวลาการรักษาซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นโดยที่เสียค่ารักษาพยาบาลน้อยลง

นพ.ตง กล่าวด้วยว่า ผู้ให้บริการสุขภาพเริ่มคุ้นเคยกับการให้บริการทางไกล ยิ่งสมทบด้วยเทคโนโลยีที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้นและความช่วยเหลือสำหรับการตัดสินใจทางคลินิก ก็ยิ่งช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างมั่นใจ และในภายหน้าก็เชื่อว่าผู้ให้บริการสุขภาพจะพัฒนาศักยภาพให้สามารถรักษาผู้ป่วยที่รักษาได้ยากผ่านการสาธารณสุขทางไกล ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็จะช่วยส่งเสริมโครงการติดตามผู้ป่วยทางไกลและการเชื่อมโยงบริการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ขอบคุณที่มา Are Healthcare Providers Getting Comfortable With Telehealth? : www.mhealthintelligence.com