ห่วงแนวโน้ม ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 3,000 คน ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะการรับประทานเนื้อแดง เนื้อแปรรูป อาหารปิ้งย่าง ย้ำเร่งคุมเข้มฟาร์มปศุสัตว์และเจ้าของเขียง หลังตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงบ่อยครั้ง เพจสุขภาพชวนปรับไลฟ์สไตล์ชีวิต ด้าน สช. ระบุต้องรู้เท่าทันจึงป้องกันโรคได้ พร้อมเตรียมนำประเด็นความรู้เท่าทันด้านสุขภาพเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ปลายปีนี้
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัด เวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ 3/2561 เรื่อง “กินเปลี่ยนชีวิต หยุดวิกฤตมะเร็งลำไส้ใหญ่” เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุมบองมาร์เช่ มาร์เก็ต ประชานิเวศน์ 1
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบบ่อย 1 ใน 5 ของประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องและมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 รายต่อปี ปัจจุบันพบผู้ป่วยชาย 6,874 รายต่อปี ผู้ป่วยหญิง 5,593 รายต่อปี จัดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ ผู้ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อแดง เนื้อแปรรูป หรืออาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และกินอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์พวกผัก ผลไม้น้อย ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ออกกำลังน้อย ผู้มีประวัติหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ชนิด Adenomatous polyps และผู้มีปัญหาระบบขับถ่าย เช่น ลำไส้อักเสบ ท้องผูกเรื้อรัง ภาวะลำไส้แปรปรวน เป็นต้น ทั้งนี้ มักพบโรคในผู้สูงอายุวัย 50-70 ปี ส่วนกลุ่มอายุน้อยกว่า 50 ปีที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ฯ อาจมีโอกาสเกิดโรคสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งป้องกันได้หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และตรวจคัดกรองตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก จะทำให้การรักษาได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติรณรงค์ให้ความรู้และแนวทางป้องกัน ควบคู่กับโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงให้ผู้มีอายุ 50-70 ปี เข้ารับการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“ประเทศไทยมีแนวโน้มอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปคล้ายชาวตะวันตก หากไม่มีนโยบายคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่ฯอย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี มาอยู่ที่ราว 20,000 ราย ซึ่งย่อมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย”
ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่
ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาศาสตร์ทางอาหารและโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะโภชนาการที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ ผู้ที่กินผักผลไม้น้อย ชอบกินเนื้อหมู เนื้อวัว และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง หรือท้องผูกเป็นประจำ ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับประชาชนคือ ไม่ควรรับประทานเนื้อแดงเกิน 500 กรัม หรือครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ และควรสลับกับเนื้อไก่ เนื้อปลา หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปบ่อยๆ ขณะเดียวกันควรเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ เพราะใยอาหารจะช่วยเร่งการขับถ่ายทำให้ของเสียไม่ตกค้างในลำไส้และเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ดีที่เจริญในลำไส้ใหญ่ ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ได้ นอกจากนั้น ควรมีการควบคุมปริมาณการใช้วัตถุเจือปนในอาหารแปรรูป เช่น สารไนไตรท์ สารไนเตรท ให้เป็นตามกำหนดในประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างจริงจัง
นายสิทธิพร บุรณนัฏ
นายสิทธิพร บุรณนัฏ ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด เล่าสถานการณ์ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อวัวว่า ปัจจุบันการบริโภคเนื้อวัวของประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ตลาด ได้แก่ตลาดพรีเมี่ยม ตลาดโมเดิร์นเทรด และตลาดเขียง โดยส่วนที่เป็นปัญหาใส่สารเร่งเนื้อแดง ส่วนมากเกิดจากตลาดเขียงที่จำหน่ายในตลาดสด โดยกรมปศุสัตว์ตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงตั้งแต่การเลี้ยงในฟาร์ม เนื่องจากผู้ผลิตไม่ต้องการให้เนื้อวัวมีไขมัน ซึ่งผู้บริโภคที่ซื้อไปรับประทานจะดูสภาพเนื้อวัวที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงนี้ได้ยาก
“สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารที่ผิดกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ออกตรวจตราเป็นพิเศษ จับกุมผู้กระทำผิดอยู่บ่อยครั้ง ส่วนตัวคิดว่าจะลงโทษฟาร์มอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ความรู้และสร้างความรับผิดชอบกับเจ้าของเขียงที่นำมาจำหน่ายด้วย รวมถึงให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีระบบตลาดสอบสินค้าที่รวดเร็ว”
สำหรับสมาชิกของสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตกว่า 100 ราย มุ่งจำหน่ายเนื้อในตลาดพรีเมี่ยมหรือเนื้อวัวราคาสูงที่มีไขมันแทรกอยู่ ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงไม่มีการใส่สารเร่งเนื้อแดงอย่างแน่นอน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของสหกรณ์ฯ ขายให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านปิ้งย่างที่มีชื่อเสียง เป็นต้น
นายจาคี ฉายปิติศิริ
ด้าน นายจาคี ฉายปิติศิริ ผู้ดูแลเพจ ‘จาคี มะเร็งไดอารี่’ กล่าวถึงประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่า ตนเองเกิดอาการของโรคในช่วงปี 2549-2550 เริ่มปวดท้อง ระบบขับถ่ายผิดปกติ รับประทานอาหารไม่ได้และไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งผลการตรวจพบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย เมื่อเริ่มการรักษาก็ต้องพบกับผลข้างเคียงหลายอย่าง แต่ก็พยายามทำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวแข็งแรงมากพอที่จะรับการรักษาต่อไป โดยปรับปรุงเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย ดูแลสภาพจิตใจตัวเองและคนรอบข้างให้ดีที่สุดจนการรักษาผ่านไปได้อย่างราบรื่น
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการสู้โรค คือการสู้กับความไม่รู้ นำมาซึ่งความวิตกกังวลและความกลัว แต่ถ้าเรามีข้อมูลมากเพียงพอก็จะเข้ารับการรักษาด้วยความเข้าใจ จึงพยายามสอดแทรกเนื้อหาส่งเสริมสภาพจิตใจให้ผู้ที่ติดตามรู้สึกเหมือนเราเป็นเพื่อน ระหว่างป่วยจึงเริ่มพัฒนาเพจ ‘จาคีมะเร็งไดอารี่’ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในแง่มุมที่เป็นประสบการณ์ตรงจากการรักษา นำเสนอในสิ่งที่ตนเองเคยเป็นหรือเคยทำมาแล้ว ซึ่งแพทย์และพยาบาลเป็นผู้แนะนำ”
ปัจจุบัน พยายามใช้ชีวิตให้อยู่ในมาตรฐานคนสุขภาพดีทั่วไป คือเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำว่าทุกคนควรหันมาดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะคนที่มีต้นทุนทางสุขภาพดี ย่อมจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยดูแลสุขภาพมาก่อน
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันโรคเพื่อให้สามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยทุกภาคส่วนพยายามรณรงค์ให้ผู้บริโภคมี ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ (Health Literacy) โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์มาเกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายจึงต้องรู้เท่าทันเรื่องดิจิทัล (Digital Literacy) และ รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ด้วย เพื่อเสพข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณและช่วยกันจับตาข้อมูลที่บิดเบือนในยุค 4.0 อย่างไรก็ดี การรณรงค์ให้ความรู้เท่าทันสุขภาพด้านอาหารเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เช่น ควรแนะนำให้ “หลีกเลี่ยง” หรือดู “ความเหมาะสม” หมายถึงผู้บริโภคต้องมีความเข้าใจและตระหนักในการเลือกรับประทานมากกว่าความชอบส่วนตัวและรสชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “you are what you eat” สุขภาพอยู่ที่เราเลือก
“ทุกภาคส่วนสามารถสร้างสังคมสุขภาวะร่วมกัน ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ลดความเสี่ยง สร้างคำเตือนหรือไม่โฆษณาที่กระตุ้นการบริโภคเกินปริมาณ ขณะที่สื่อมวลชนก็ควรแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ไม่โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง มีพื้นที่หรือเวลาเผยแพร่ข้อมูลที่เอื้อต่อสุขภาพด้วย ที่ผ่านมา สช. ได้สนับสนุนการทำงานร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อพัฒนาข้อเสนอทางนโยบายเพื่อป้องกันและควบคุมโรค”
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อป้องกันและควบคุมปัจจัยคุกคามสุขภาพ รวมทั้งอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งการประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงนำเรื่อง “ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs)” เป็นระเบียบวาระหนึ่งเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วม ภายใต้ธีมงาน “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” ผู้ที่สนใจติดตามความคืบหน้าที่ www.nationalhealth.or.th หรือ www.samatcha.org
- 1460 views