เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 ซึ่งในงานนี้ได้มีการปาฐกถาพิเศษโดย ดร.พระครูพิพิธสุตาทร (บุญช่วย สิรินฺธโร) จากเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม อาจารย์ประจำบัณฑิตศึกษา มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่ และกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ในหัวข้อ “พระสงฆ์กับระบบหลักประกันสุขภาพ” เพื่อสะท้อนปัญหาด้านต่างๆของพระสงฆ์ในระบบหลักประกันสุขภาพ และแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ในอนาคต
ดร.พระครูพิพิธสุตาทร (บุญช่วย สิรินฺธโร)
ดร.พระครูพิพิธสุตาทร กล่าวถึงภาพรวมการเข้าถึงบริการสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรว่า ประเทศไทยมีวัดกว่า 3.9 หมื่นแห่ง มีพระสงฆ์และสามเณรประมาณ 3.4 แสนรูป ซึ่งก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพนั้น พระสงฆ์รักษาฟรีในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ แต่พอหลังจากมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 พระสงฆ์ก็รักษาฟรีเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไปลงทะเบียนกับสถานพยาบาลก่อน ซึ่งในยุคนั้นพระสงฆ์ไม่มีบัตรประชาชน และในหนังสือสุทธิก็ยังไม่มีเลขประจำตัว 13 หลักอีก จึงเป็นที่มาของการเพิ่มเลข 13 หลักในหนังสือสุทธิในช่วงหลังจากนั้น
“จะเห็นว่าในแง่ความห่วงใยพระสงฆ์ว่าจะเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ พอเริ่มมี พ.ร.บ. ก็ห่วงใยแล้ว แต่ถึงปัจจุบันก็ยังดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังไม่คืบ จากเดิมที่รักษาในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศฟรี พอให้ขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งก็กลายเป็นจำกัดสิทธิของพระลงมา” ดร.พระครูพิพิธสุตาทร กล่าว
ขณะเดียวกัน ในประเด็นเรื่องการรับรู้และเข้าใจสิทธิการรักษาพยาบาลของพระสงฆ์ ก็กล่าวได้ว่าพระแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพเลย เคยมีการสำรวจการรับรู้หน้าที่สิทธิของพระสงฆ์ โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในกลุ่มตัวอย่าง 897 รูป พบว่ามีเพียง 33% ที่รู้ว่าประเทศไทยมีระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล และเมื่อถามว่าหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิตามกฎหมายหรือโครงการสงเคราะห์ ส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นโครงการสงเคราะห์ นอกจากนี้ ยังมีอีกกว่า 80% ที่ไม่รู้จักสายด่วน 1330 และมีเพียง 7% ที่รู้จักกองทุนสุขภาพตำบล สรุปคือพระสงฆ์มีความรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพน้อยมาก
ในส่วนการเข้ารับการรักษาพยาบาล พระบางรูปมีสวัสดิการข้าราชการเนื่องจากเป็นข้าราชการเกษียณแล้วมาบวช บางส่วนมีสิทธิประกันสังคมเพราะประกันตนไว้ตั้งแต่ก่อนบวช แต่ทั้ง 2 สิทธินี้มีสัดส่วนจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ 84% เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่ในจำนวนนี้ไปใช้สิทธิเพียง 32% เท่านั้น
“ในวัดจะมีการทำประกันชีวิตเยอะมากนะ ประกันสุขภาพของบริษัทเอกชน ส่วนใหญ่ท่านจะเมตตาซื้อเวลามีลูกศิษย์ที่เป็นนายหน้าประกันมาขอให้ช่วยทำยอด แต่รายละเอียดเป็นอย่างไรท่านไม่ได้สนใจหรอก ดังนั้นเวลาท่านต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ส่วนใหญ่ปรากฏว่าเลือกใช้สิทธิประกันของเอกชนและไปโรงพยาบาลเอกชน” ดร.พระครูพิพิธสุตาทร กล่าว
ในส่วนของปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์นั้น พระครูพิพิธสุดาธร กล่าวว่ามีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น เรื่องการรับรู้สิทธิดังที่กล่าวไปแล้ว เรื่องการย้ายสิทธิก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะเมื่อไม่รู้สิทธิก็ไม่รู้จะย้ายอย่างไร เรื่องระบบฐานข้อมูลสงฆ์ก็ยังไม่เรียบร้อย การไปรับบริการที่สถานพยาบาลของรัฐ หากมีผู้รับบริการมากจนแออัดก็ไม่อยากไป กลัวจะหาที่นั่งไม่ได้ จึงเลือกไปรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนแทน รวมทั้งบทบาทการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะ เช่น การเป็นกรรมการกองทุนสุขภาพตำบลต่างๆ ก็ยังไม่มี
ประเด็นสำคัญอีกประการที่พระครูพิพิธสุดาธรอยากฝากให้ภาคีเครือข่ายช่วยกันคิดคือเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงอายุของกลุ่มพระสงฆ์ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวที่พบเจอมา กลุ่มสงฆ์น่าจะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว บางวัดมีหลวงพ่ออายุ70 จำวัดอยู่รูปเดียว ก็ประเด็นอีกว่าจะดูแลพระสงฆ์สูงอายุในวัดต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ การจัดการต่างๆ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับ สปสช.โดยตรง แต่ถ้ามองดูภาพรวมทั้งหมดจะพบว่าการดูแลสุขภาพพระสงฆ์มีอะไรต้องทำอีกเยอะมาก
ทั้งนี้ ในส่วนการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพขององค์กรสงฆ์เอง ในปี 2560 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งแนวคิดสำคัญของธรรมนูญคือ “ทางธรรมนำทางโลก” ประเด็นคือในอดีตที่ผ่านมา การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพใดๆ เกี่ยวกับพระสงฆ์ ส่วนใหญ่หมอมีบทบาทนำ แต่ธรรมนูญนี้ให้พระลุกขึ้นมาตระหนักในสุขภาพตนเองและมีบทบาทนำ บอกได้ว่าเรื่องไหนสอดคล้องกับพระธรรมวินัย การขับเคลื่อนจะยึดหลักการนี้โดยมีกิจกรรมต่างๆ ใน 3 หมวดสำคัญคือ พระสงฆ์ดูแลพระสงฆ์ด้วยกันเอง มีการอบรมพระพระคิลานุปัฏฐากซึ่งเปรียบเสมือน อสม.ประจำวัด เรื่องชุมชนดูแลพระสงฆ์ และ เมื่อพระสงฆ์ที่มีสุขภาพดีก็กลับไปดูแลญาติโยม
ในส่วนของ สปสช.เอง ในธรรมนูญสุขภาพมีกล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ 2 ข้อ คือ ข้อ 18 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงจัดชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี ครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ควบคุมโรค การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ แก่พระสงฆ์ และ ข้อ 19 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึงสนับสนุนการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ซึ่งอยากฝากประเด็นว่า สปสช.คงไม่ต้องรอให้ครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศหรือทำให้ครบทั้ง 3 แสนรูป แต่คิดว่าในพื้นที่ที่มีความพร้อมจะเชื่อมโยงกับ สปสช. ก็สามารถทำงานขับเคลื่อนร่วมกันไปได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีวัดที่นำร่องกว่า 20 แห่งทั่วประเทศอยู่แล้ว สามารถนำมาเป็นบทเรียนในการขยายงานช่วงต่อไปได้
“กิจกรรมที่ต้องขับเคลื่อนยังมีอีกเยอะ อย่างที่ จ.สุโขทัย เราอบรมพระคิลานุปัฏฐาก แล้วมอบหมายงานให้ท่านสำรวจพระในอำเภอตัวเอง ผลออกมาพบว่าพระไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน 207 รูป คิดเป็น 66% นี่เพิ่งไปสำรวจกันมา หรือที่ ต.จันเสน จ.นครสวรรค์ ก็มีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ของตำบลด้วย ทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลก็บอกว่าถ้าเขียนไว้แบบนี้จะได้ไปจัดการเรื่องกองทุนให้ได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้ทุกคนเห็นว่าถ้าหยิบจากธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ไปทำ ก็มีหลายฝ่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ หรือที่ จ.เชียงราย พบว่าในพื้นที่ที่มีการปลูกกล้วยโดยใช้สารเคมี ผลตรวจเลือดของพระหลายรูปอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย ดังนั้นเรื่องการคัดกรองก็มีความจำเป็น และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ชุมชนเป็นคนคิดมาตรการดูแลสุขภาพ เช่น อาจทำผักปลอดสารพิษในวัดแล้วขยายไปสู่ชุมชนก็ทำได้ ก็ค่อยๆ คิดว่าจะทำอะไรกันต่อไป หรือเรื่องบุหรี่ บางตำบลมีพระสูบบุหรี่ 40-50% จะทำอย่างไรถึงจะลดความเสี่ยงสุขภาพตรงนี้ จะเห็นได้ว่ายังมีประเด็นด้านสุขภาพของพระสงฆ์ที่ต้องทำกันอีกเยอะเลย” ดร.พระครูพิพิธสุตาทร กล่าวทิ้งท้าย
- 1215 views