คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ผนึก เอสซีจี วิจัยและพัฒนา “ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟัน” ป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยตัวปูนเอง คณบดีฯ หวังดันนวัตกรรมสุดล้ำสู่อาเซียน-เวทีโลก
รศ.ทพญ.วรานันท์ บัวจีบ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยนวัตกรรม “ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรค” ร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) และได้รับการประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว เปิดเผยว่า บทบาทสำคัญของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากด้านการสอนเพื่อผลิตทันตแพทย์แล้วยังสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนางานด้านทันตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวแม้จะมีฐานมาจากองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษา แต่จะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่ทำให้งานวิจัยได้รับการพัฒนาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รศ.ทพญ.วรานันท์ กล่าวอีกว่า คณะทันตแพทยศาสตร์มีความร่วมมือกับบริษัทเอสซีจีในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ซึ่งผลงานวิจัยที่นำสู่ตลาดคือปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรค ซึ่งสามารถยับยั้งเชื้อโรคได้ด้วยตัวปูนเอง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ ตรงนี้จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการให้บริการด้านทันตกรรม
รศ.ทพญ.วรานันท์ กล่าวว่า ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรค มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อบุคลากรด้านทันตกรรม ทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ และช่างทันตกรรม รวมถึงประชาชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อแล้ว ยังมีคุณสมบัติพิเศษช่วยยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคที่พบบ่อยในผิวชิ้นหล่อฟันมากถึงกว่า 70% และยังเป็นการป้องกันและยับยั้งการติดเชื้อโรคที่มาจากกระบวนการพิมพ์ปากคนไข้อีกด้วย โดยขณะนี้นำนวัตกรรมปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรคไปขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์จากการผลิตนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และยังช่วยให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีไว้ใช้ในประเทศ โดยคาดว่าในอนาคตอันใกล้จะสามารถเผยแพร่นวัตกรรมนี้ไปสู่ภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน และมีเป้าหมายไปถึงตลาดโลกด้วย
“อุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ของนวัตกรรมจะได้รับการเรียนรู้ตั้งแต่ในชั้นของการทำวิจัย และหลังจากที่ได้ผลิตภัณฑ์มาแล้ว ก็เป็นภาคเอกชนที่จะช่วยทำตลาดได้ดีกว่านักวิจัยที่ไม่มีความถนัดในเรื่องนี้ รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ และทันตแพทยสภา ที่ช่วยกันบูรณาการจนสามารถนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งหากเกิดความร่วมมือในลักษณะนี้มากๆ ย่อมเป็นเรื่องดีต่อประเทศอย่างแน่นอน” รศ.ท.พญ.วรานันท์ กล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2561 มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านทันตนวัตกรรม ระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) และทันตแพทยสภา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสนับสนุนทันตนวัตกรรมของประเทศไทย โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยภายในงานมีการเปิดตัวนวัตกรรม “ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรค”
สำหรับนวัตกรรมดังกล่าวมีด้วยกัน 3 ประเภทการใช้งาน ประกอบด้วย 1.Type 3 (สีเขียว) สำหรับทำชิ้นหล่อแบบฟันเพื่อศึกษาและงานฟันเทียมชนิดถอดได้ 2.Type 2 (สีชมพู) สำหรับทำชิ้นหล่อแบบฟัน เพื่อวางแบบสร้างวัสดุบูรณะฟัน ที่สามารถลอกเลียนรายละเอียดได้ดีและมีความแข็งแรงสูง 3.Orthodontic Type (สีขาว) เพื่อใช้ศึกษาอวัยวะปริทันต์สำหรับทันตกรรมจัดฟัน โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่าผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ตามข้อกำหนด ISO 6873 ที่เป็นมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ยิปซั่มสำหรับงานทันตกรรม และได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยุโรป หรือ CE mark
- 36 views