บอร์ดกองทุนสุขภาพภาครัฐ รุกบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปี 62 เพิ่มรายการจ่ายตามราคากลางที่กำหนด (Fee Schedule) 8 รายการ พร้อมดึง 78 รพ.เอกชนระบบประกันสังคมร่วมคัดกรอง-ป้องกันโรค ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาประเทศ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะที่ 5 องค์ประกอบ 5.2 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ต้องดำเนินการควบคู่กับการรักษาพยาบาล นอกจากเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินการ รวมทั้งระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้งหมด

ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้รับทราบผลการดำเนินงานปี 2561 ของคณะอนุกรรมการพัฒนาการบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบประกันสุขภาพ สำหรับประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างครอบคลุม มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ สําหรับประชาชนไทยทุกสิทธิ การบูรณาการที่จะดำเนินการในปี 2562 คือ การปรับรูปแบบการชดเชยค่าบริการฯ โดยปรับการจ่ายชดเชยตามราคากลางที่กำหนด (Fee Schedule) เพื่อกระตุ้นการให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น ใน 8 รายการ ดังนี้

1.บริการฝากครรภ์

2.บริการตรวจยืนยันโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี

3.บริการตรวจคัดกรองดาว์นซินโดรม (Down syndrome) ในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้มีการฝากครรภ์อย่างมีคุณภาพ ป้องกันและควบคุมโรคทางพันธุกรรมและภาวะพิการตั้งแต่กำเนิด

4. บริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด เพื่อป้องกันและควบคุมภาวะปัญญาอ่อนในเด็กแรกเกิด

5.บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วง/ยาฝัง) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในเด็กวัยรุ่น อายุ 16-20 ปี

6.บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วง/ยาฝัง) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-59 ปี กรณีหลังยุติการตั้งครรภ์

7. บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

8. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในหญิงอายุ 30-59 ปี เพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น เป็นการลดภาระโรคและค่าใช้จ่ายในการรักษาระยะยาว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับประชาชน ในปี 2562 สถานพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคมจำนวน 78 แห่ง จะเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และขอรับการชดเชยค่าบริการตามราคากลาง 8 รายการดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่ประชาชนไทยทุกสิทธิ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาการบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคฯ ได้จัดทำแผนขับเคลื่อน (Road Map) ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบประกันสุขภาพสําหรับประชาชนทุกภาคส่วน ระยะเวลา 5 ปี, การทบทวนสิทธิประโยชน์หลักด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อใช้กับประชาชนไทยทุกสิทธิ, การเชื่อมโยงฐานข้อมูลของ 3 กองทุนสุขภาพหลัก และการจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาและประเมินคุณภาพบริการฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของประเทศดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ