คณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ เห็นชอบให้เร่งรัดจัดทำแผนรับมือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มุ่งสร้างศักยภาพระยะยาว และประกันความมั่นคงของประเทศ
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยเพื่อติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ
พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลก และสภาวะภูมิอากาศอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส โรคไข้หวัดนก รวมถึงโรคติดต่อใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง และมีความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ตลอดเวลา
คณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมด 33 หน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และสภากาชาด เป็นต้น จึงได้ร่วมขับเคลื่อนและจัดทำแผนเพื่อเตรียมความพร้อม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดการป่วย การตาย และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคติดต่ออุบัติซ้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้เร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่นานาชาติให้ความสำคัญและมีโอกาสเกิดการระบาดใหญ่ได้ง่าย โดยได้มอบหมายให้อนุกรรมการขับเคลื่อนฯ เป็นแกนหลักในการร่วมดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้จัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บท ประเด็น 13 การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี (แผนย่อย การพัฒนาและสร้างระบบรับมือปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) โดยแผนปฏิบัติการฯ นี้จะเน้นกลไกการบริหารจัดการแบบบูรณาการมาใช้ในการบัญชาการและประสานงาน ทำให้สามารถระดมความร่วมมือและทรัพยากรของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทุกระดับ รวมทั้งความร่วมมือจากภาคประชาชนอย่างเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาและควบคุมสถานการณ์ได้ และสอดคล้องกับการดำเนินการของนานาชาติ
- 18 views