หมอปิยะสกล” หนุน รพ.สังกัด สธ.จัด คลินิกนอกเวลา” แก้ปัญหาผู้ป่วยแออัด เพิ่มการเข้าถึงบริการ พร้อมดึงหมอดูแลผู้ป่วยในระบบ ไม่ทำคลินิก ระบุยังไม่มีแนวทางขยายครบ รพศ./รพท.ทุกแห่ง ขึ้นอยู่กับความพร้อมเหมาะสมของ รพ.
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหนึ่งในความร่วมมือโดยประชารัฐเพื่อพัฒนาประเทศ และเป็นกระบวนการสำคัญในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อรับฟังความเห็น ข้อเสนอสู่การปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดความเหมาะสมและคุ้มค่า จะเห็นได้จากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 ที่ผ่านมา รวมถึงการปรับปรุงบริการในระบบกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้นำความเห็นที่ได้รับฟังจากประชาชนมาดำเนินการ
ทั้งนี้ตัวอย่างที่ชัดเจน อย่างการเปิดคลินิกนอกเวลาของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความแออัดผู้ป่วยที่มารับบริการในช่วงกลางวัน หรือการเปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยเปิดเป็นทางเลือกในการรับบริการให้กับประชาชน คนที่จะมารับการรักษาช่วงเย็นก็ยินดีจ่ายเพิ่มเป็นค่าบริการ เพิ่มความสะดวก แต่หากไม่ต้องการจ่ายเพิ่มก็มารับบริการในช่วงเวลาปกติได้ ขณะเดียวกันแพทย์เองก็ไม่ต้องไปเปิดคลินิกเอง มาทำที่โรงพยาบาลแทน ซึ่งคลินิกนอกเวลาในโรงเรียนแพทย์ทำกันมานานแล้ว เพียงแต่ในส่วนโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มทำอย่างจริงจัง และทุกคนต้องยอมรับ
“การเปิดคลินิกนอกเวลาน่าจะดีกับทุกฝ่าย ดีกับผู้ป่วยที่พร้อมจ่ายเพื่อมารับบริการในช่วงเย็นเพื่อความสะดวก ดีกับผู้ป่วยในเวลาปกติเพราะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ การบริการของโรงพยาบาลเองก็ดีขึ้น รวมถึงตัวคุณหมอเอง เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตามการจัดคลินิกนอกเวลาที่ผ่านมา สธ.อยู่ระหว่างนำร่อง และยังไม่มีแนวทางขยายให้ครบโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเหมาะสม หากผู้ป่วยไม่แน่นก็อาจไม่จำเป็นต้องทำ แต่เป็นระบบที่ช่วยผ่อนคลาย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากการรับฟังความเห็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเองก็อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะการจัดทำสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำซึ่งคงไม่นานเกินรอ รวมถึงการดูแลกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ต้องขัง พระภิกษุสงฆ์ และผู้พิการ ก็จะมีการดำนินการสู่การพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ โดยในส่วนกลุ่มผู้ต้องขังได้เริ่มจัดทำระบบแล้วร่วมกับกรมราชทัณฑ์ นอกจากการดูแลสุขภาพพื้นฐานทั่วไปแล้ว ยังเน้นการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อรุนแรงที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะวัณโรค เพื่อให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพดีโดยรวม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไฟเขียว รพ.รัฐเปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา คนไข้ไม่ต้องรอคิวนาน รพ.มีรายได้เพิ่ม
- 29 views