รุกสำรวจ “คนไทยไร้สิทธิทั่วประเทศ” จัดทำฐานข้อมูล จี้รัฐเร่งแก้ปัญหา คืนสิทธิความเป็นคนไทย เบื้องต้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว 24 จังหวัด พบคนไทยไร้สิทธิร่วม 500 คน เตรียมสำรวจต่อ คาดทั้งประเทศมีจำนวนหลักแสน เผยเหตุทำคนไทยไร้สิทธิ์ ทั้ง พ่อแม่ไม่แจ้งเกิด ถูกทอดทิ้ง ถูกจำหน่ายรายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน และหนีทหาร พร้อมผลักดัน “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ” ต่อเนื่อง

น.ส.วรรณา แก้วชาติ

น.ส.วรรณา แก้วชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวถึงที่มาของการสำรวจคนไทยไร้สิทธิว่า การสำรวจนี้เริ่มต้นจากที่ มพศ.และเครือข่ายได้ทำเรื่องคนไทยไร้สิทธิและพบว่ายังมีกลุ่มคนไทยที่ตกสำรวจและเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ อยู่ ทั้งที่เป็นคนไทยด้วยกัน และจากที่ได้ร่วมเป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยเหล่านี้ มองว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยต้องมีการจัดทำข้อมูลเพื่อสะท้อนปัญหาและผลักดันให้เกิดการแก้ไข ดังนั้นจึงได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลคนไทยไร้สิทธิ ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์ องค์กรแพลนประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดทำชุดเครื่องมือเพื่อเก็บข้อมูล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่ร่วมสนับสนุน

ทั้งนี้ เบื้องต้นเป็นการเก็บข้อมูลใน กทม.ที่เป็นพื้นที่เราทำงานอยู่ โดยได้เริ่มต้นสำรวจช่วงเดือนมิถุนายน 2560 พบคนไทยไร้สิทธิจำนวน 30 คน ทั้งที่เป็นกลุ่มคนไร้บ้านและคนที่ไม่มีบัตรประชาชนที่อาศัยในชุมชนต่างๆ ทั้งบางคนไม่เคยมีบัตรประชาชนมาเลย โดยได้นำคนเหล่านี้ไปทำบัตรประชาชนยังสำนักงานเขต และเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิและสถานะบุคคล ทั้งการหาหลักฐานอ้างอิงและการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งจากความร่วมมือโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และแกนนำชุมชนในพื้นที่ ทำให้คนเหล่านี้ได้รับบัตรประชาชนและได้รับสิทธิคนไทยกลับคืน

น.ส.วรรณา กล่าวว่า จากข้อมูลสำรวจนี้เราสามารถแยกคนไทยไร้สิทธิได้ 4 ประเภท คือ 1.กลุ่มคนที่ไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อน พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด 2.กลุ่มที่ติด ทร.97 ถูกจำหน่ายรายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ทำให้ชื่อไปอยู่ที่ทะเบียนกลาง 3.กลุ่มหนีทหาร กลัวถูกดำเนินคดีทำให้ไม่กล้าต่ออายุบัตรประชาชน และ 4.กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตามวัดและสถานสงเคราะห์ เหลือตัวคนเดียวไม่สามารถพิสูจน์สถานะบุคคลได้ โดยคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนไทยด้วยกันเพียงแต่ด้วยเหตุต่างๆ ทำให้ต้องมีสถานะเป็นคนไทยไร้สิทธิ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายผลการสำรวจ จากที่ได้ทำงานร่วมกับ สปสช. จึงมองว่ากลไกเครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคประชาชน 50(5) น่าจะเป็นช่องทางในการสำรวจข้อมูลนี้ได้ ซึ่งคาดว่าทั้งประเทศน่าจะมีคนไทยไร้สิทธิอยู่ที่จำนวนหลักแสนคน โดยขณะนี้ได้เริ่มเก็บข้อมูลแล้วใน 24 จังหวัด เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นพบคนไทยไร้สิทธิแล้วประมาณ 500 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลเบื้องต้น อาจมีจำนวนเพิ่มเป็น 700 คน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคการรับรองสิทธิความเป็นคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยันสถานะ โดยในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-70 ปี หลักฐานมักจะไม่หลงเหลือแล้ว ขณะที่กลุ่มเด็กในกรณีที่ถูกทิ้งที่สถานสงเคราะห์ คาดว่ามีจำนวนหลักพันคน ต่างก็ไม่มีหลักฐานะยืนยันตัวตนเช่นกัน ตรงนี้จะทำอย่างไร

“การสำรวจข้อมูลคนไทยไร้สิทธิครั้งนี้ เป็นการสำรวจที่จัดทำเป็นระบบครั้งแรก เพื่อเป็นฐานข้อมูลไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ปัจจุบันยังมีกลุ่มคนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนราษฎร์อยู่ทั้งที่เป็นคนไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้สิทธิคนไทยกลับคืน โดยระหว่างนี้เพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาที่เป็นสิ่งจำเป็น ที่ผ่านมาได้เสนอจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิขึ้นและอยู่ระหว่างผลักดัน ซึ่งหากมองว่ามีกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิอยู่แล้ว ขอให้เปิดช่องเพื่อให้คนไทยไร้สิทธิอยู่ภายใต้กองทุนนี้ในช่วงที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล” เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มพศ. กล่าวและว่า ทั้งนี้อยากให้กองทุนนี้ครอบคลุมถึงสิทธิการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์สิทธิด้วย เพราะแม้ปัจจุบันจะมีการลงนามระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการให้สิทธิการตรวจพิสูจน์สิทธิแล้ว แต่หากงบประมาณนี้หมดลงก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพิสูจน์สถานะ เนื่องจากการตรวจดีเอ็นเอมีค่าใช้จ่ายสูงมาก คนเหล่านี้ไม่มีเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้

น.ส.วรรณา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการพิสูจน์สถานะบุคคล ควรมีการกำหนดหลักฐานและขั้นตอนในการดำเนินการ เพื่อให้จัดเตรียมหลักฐานและเอกสารได้ถูกต้องและยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่รัฐว่า การทำบัตรประชาชนให้คนไทยไร้สิทธิที่มีหลักฐานยืนยัน ได้ทำตามกระบวนการและขั้นตอนถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ บางครั้งแม้มีหลักฐาน เอกสารและบุคคลอ้างอิงครบถ้วน แต่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นการสวมสิทธิในภายหลัง

“การพิสูจน์สถานะบุคคล ไม่ได้มาซึ่งแค่บัตรประชาชน แต่หมายถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ในฐานะคนไทยที่ควรได้รับ อาทิ สิทธิการศึกษา สิทธิสวัสดิการต่างๆ และสิทธิสุขภาพ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลดูแลคนเหล่านี้ โดยออกเป็นนโยบายและมี มติ ครม. เปิดให้คนไทยไร้สิทธิที่ตกสำรวจ สามารถขึ้นทะเบียนสิทธิความเป็นคนไทยได้ โดยให้เป็นการเก็บตกรอบสุดท้าย เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุ ส่วนเด็กรุ่นหลังการตกสำรวจจะน้อยมาก ยกเว้นกรณีเด็กถูกทอดทิ้ง”

น.ส.วรรณา กล่าวว่า นอกจากนี้อยากให้มีการทบทวน มาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยให้ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมถึงกลุ่มคนไทยที่ไม่มีเลข 13 หลัก ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยไร้สิทธิด้วย ไม่ใช่จำกัดเฉพาะคนไทยที่มีเลข 13 หลัก หรือมีบัตรประชาชนเท่านั้น เพราะเขาเหล่านี้ต่างเป็นคนไทยเช่นกัน